9 มกราคม 2567 ที่ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 2 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บริหาร บุคลากรด้านสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า การพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกและต้องเร่งรัดดำเนินการซึ่ง “สุขศาลาพระราชทาน” เป็นสถานบริการระดับปฐมภูมิที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และพื้นที่พิเศษด้านความมั่นคง ได้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สอดคล้องกับบริบทและวิถีชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ปัจจุบันเรามีสุขศาลาพระราชทานทั้งสิ้น 26 แห่ง ให้บริการสุขภาพแก่คนไทย บุคคลไร้รัฐ และประชากรประเทศเพื่อนบ้าน ประมาณปีละ 20,000 – 25,000 ราย ในจำนวนนี้ ผ่านการรับรองคุณภาพการให้บริการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขชุมชนแล้ว 22 แห่ง ในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าจะพัฒนาให้ผ่านการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์ครบทุกแห่ง รวมทั้งมีการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่อย่างเป็นระบบและปลอดภัย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนและประชาชนมีความรู้ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยนำเทคโนโลยี Telemedicine มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วย” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
ด้านนายแพทย์สามารถกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานระหว่างเครือข่ายสุขศาลาพระราชทาน รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการนำระบบ Telemedicine มาใช้ในการสื่อสารสุขภาพ เพิ่มพูนความรู้ทักษะการตรวจรักษาโรคที่พบบ่อยในพื้นที่ให้แก่ครู พยาบาล เจ้าหน้าที่ และ อสม. ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพด้านการรักษาและสาธารณสุขชุมชน สร้างชุมชนให้เป็นชุมชนสุขภาพดี ตามนโยบายการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ “สุขศาลาพระราชทาน” นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงาน โดยการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน หรือ อสม. ได้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่อไป