30 มกราคม 2567 ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ
ประเด็นสำคัญของหลักการ ดังกล่าว คือ หลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถ
จากการศึกษาปัจจุบัน พบว่า ยังมีบางกรณี ที่ไม่ครอบคลุม ทำให้เป็นปัญหาอุปสรรค สำหรับเจ้าหน้าที่ (ตำรวจ) ในการตรวจพิสูจน์ และ ดำเนินการ
ตัวอย่างกรณี
- บุคคลอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กาย จนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้ หรือ
- บุคคลอยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้
ตช. ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า สมควรดำเนินการ ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
- กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นในขณะขับรถหรือไม่
- กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท
ทั้งนี้ ให้มีความสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานจราจร สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับรถหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและ
บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กาย จนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสอบการมีสารอยู่ในร่างกายได้
เสนอส่งตัว ไปรพ. เพื่อตรวจใน 3 ชม.
ตช. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และได้เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ ทั้งที่ปรับปรุงจากเดิม และ ที่เพิ่มเติมใหม่ จำแนกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็น 1. วิธีการตรวจหรือทดสอบ
1.1 ปรับปรุงใหม่ : การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีการ ดังนี้
1. ตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST)
2. ตรวจวัดจากเลือด
3. ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ
เดิมกำหนดให้ “ตรวจวัดจากปัสสาวะ” เป็น “ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ” เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
1.2 กำหนดเพิ่มเติม : ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น
เพื่อให้สอดคล้องกับ ม.131/1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประเด็น 2 หน้าที่ของพนักงานสอบสวนและแพทย์
ปรับปรุงใหม่ : กรณีที่มีอุบัติเหตุจากการขับขี่และมีพฤติการณ์เชื่อว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ได้กระทำการฝ่าฝืนตาม ม.43 (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวหรือไม่
ทุกกรณี ตามวิธีการตรวจหรือทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์
ข้อกำหนดเดิม : กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในทุกกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เดิมเจ้าพนักงานฯ
ไม่มีอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บางกรณี เช่น บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์ได้
พร้อมกับกำหนดขึ้นใหม่ ดังนี้
กรณีผู้ขับขี่สามารถ ให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยการวัดจากลมหายใจ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้
1. ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเป็นหนังสือขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายบุคคล ภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ หรือด้วยวาจา วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น จากนั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ
2. ให้แพทย์เก็บตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่น และให้ออกหลักฐานเป็นหนังสือแสดงผลการตรวจพิสูจน์โดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมในสำนวนการสอบสวน
3. ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้น มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้แพทย์บันทึกการไม่ยินยอมนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีตามที่กำหนด
ประเด็นที่ 3 ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด
หลักเกณฑ์ยังคงเดิม เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ดังนี้
กรณีตรวจวัดจากเลือด (เจาะเลือด) หากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หรือเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
สำหรับบางกรณี เช่น ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว เป็นต้น หรือกรณีผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะให้เทียบกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
1. กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วย 2,000 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น
หากวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่า 0.04 ให้คูณด้วย 2,000 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 80 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
2. กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วยเศษ 1 ส่วน 1.3 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น วัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะ วัดค่าได้ 78 ให้คูณด้วย เศษ 1 ส่วน 1.3 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 60 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในรายละเอียดและให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ต่อไป