23 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง แถลงข่าวพร้อมกับ นพ.วิชิน โชติปฎิเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่ และนพ.อมรพันธุ์ สมร ผู้อำนวยโรงพยาบาลวังชิ้น ที่โรงพยาบาลแพร่ ภายหลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมดัวยคณะที่ปรึกษา ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและ เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการในเฟสแรก ภายหลังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567
ภาพรวมผลการดำเนินงานตามนโยบายถือว่าน่าพอใจในระดับดีมาก โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการทั้งหมดในจังหวัดแพร่ ซึ่งประกอบด้วย รพ.ชุมชน 8 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 119 แห่ง สามารถเชื่อมข้อมูลได้ทั้งหมด 100 % ทั้งจังหวัด
การดำเนินการให้ประชาชนลงทะเบียนประวัติสุขภาพหรือ Health ID พบว่าได้เกินกว่า 50 % ส่วนการลงทะเบียนผู้ให้บริการ Provider ID อยู่ที่ 66 % ถือว่าอยู่ในระดับดี เช่นเดียวกัน
ในส่วนของประชาชน พบว่าในภาพรวมมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น 1.94% ประชาชนมีความพอใจ ที่ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในการเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงอย่างมาก เพราะสามารถใช้บริการจากคลินิก แล็บ และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการได้
“จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการเอกชน 3 แห่ง ทั้งคลินิกทันตกรรม ร้านขายยา และ ห้องแล็บ ของภาคเอกชน พบว่า มีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการสำรวจความพึงพอใจ พบว่าประชาชนให้การตอบรับดีมาก เนื่องจากสะดวก ไม่ต้องหยุดงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” นางสาวตรีชฎา กล่าว
ผลการดำเนินการโดย โรงพยาบาลแพร่
นายแพทย์วิชิน โชติปฎิเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่ กล่าวว่า ในส่วนของรพ.แพร่ได้ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของการให้บริการผ่าน เทเลเมดิซีน ผ่านแอพพิเคชั่น หมอพร้อม จังหวัดแพร่สามารถให้บริการได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยให้บริการมากกว่า 3,000 ครั้ง ขณะที่การนัดหมายแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ จังหวัดแพร่ได้เป็นอันดับสอง มีการนัดหมายมากกว่า 1,000 ครั้ง ส่วนการรับบริการข้ามเขต ไม่เพิ่มขึ้นมาก มีเพียง 0.55 % เท่านั้น รวมถึงการจัดบริการส่งยาถึงบ้านด้วย Health Rider ให้บริการได้ครบ 8 อำเภอ ส่งยาให้แก่ประชาชนไปแล้ว 408 ราย
ผอ.รพ.แพร่ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของหน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านขายยา แล็บ คลินิกเอกชน คลินิกทันตกรรม ได้จัดให้มีระบบสารสนเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการจ่ายชดเชยระหว่างโรงพยาบาลกับหน่วยบริการ โดยมีการเบิกจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการต่าง ๆ ไปแล้วเกือบ 4 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเตรียมที่จะเปิดตัวระบบการส่งต่อโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เพื่อให้เป็นบริการที่ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2567 นี้
ในจังหวัดแพร่ มี หน่วยบริการเอกชน ที่ร่วมโครงการ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้แก่ ร้านยา 48 แห่ง คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 3 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 4 แห่ง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 9 แห่ง [
nhso]
ผลการดำเนินการโดย โรงพยาบาลวังชิ้น
นพ.อมรพันธุ์ สมร ผอ.รพ.วังชิ้น พูดถึงในพื้นที่อำเภอวังชิ้นซึ่งป็นพื้นที่ห่างไกลในเมืองมาก การเดินทางเข้าไปรับยาหรือเข้ามารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลค่อนข้างลำบาก การพบหมอทางเทเลเมดิซีน หรือการพบหมอทางไกลมาช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น รวมถึงการส่งยาทางไปรษณีย์และ Health Rider โดยมีอสม.ในพื้นที่เป็นผู้ส่งยาและทำหน้าที่ในการอธิบายวิธีการใช้ยา ทำให้ลดขั้นตอนในการเข้ามาที่โรงพยาบาลสำหรับ 16 โรคทั่วไป
รัฐมนตรีพอใจผลการดำเนินการ
น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า นพ.ชลน่านพอใจมากที่ได้รับรายงานข้อมูลจากโรงพยาบาลในจังหวัดแพร่ในการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชาชนใบเดียว หลังจาก kick off โครงการดังกล่าว ทำให้เห็นความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขในการดูสุขภาพของพี่น้องประชาชนคนไทยที่เท่าเทียมกัน และในเดือนมีนาคมจะเปิดเฟส 2 ที่จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา จะสามารถขยายทั้งประเทศได้ในสิ้นปี 2567 นี้แน่นอน