6 มีนาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัย ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง ร่วมกันผลิต และพัฒนากำลังคน ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นผู้ลงนาม และมี นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร. นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินาถ สุคนเขตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุดมศักดิ์ กิจทวี รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ บุคลากรจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เข้าร่วมพิธีลงนาม ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของอาหาร และผลข้างเคียงของการใช้ยา ภาวะคุกคามจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ จากที่กล่าวมานั้น ล้วนทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ดี ในการจัดทำหลักสูตร ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์และการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศ นั่นคือหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ นับว่าเป็นบุคลากรที่ขาดแคลน เนื่องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีความต้องการบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทั้งด้านการวิจัย การให้บริการ ด้านการเรียนการสอน ด้านคลินิก และด้านธุรกิจ เป็นต้น เนื่องจากศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครอบคลุมเกือบทุกด้านของพื้นฐานวิชาทางการแพทย์ ได้แก่ เคมี ชีวเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา จุลชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา อณูชีววิทยา ปรสิตวิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน เภสัชวิทยา พิษวิทยา หรือแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ที่มีสอดคล้องตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งบัณฑิตที่จบหลักสูตรนี้จะมีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น และเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศให้ก้าวหน้า รวมทั้งป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาความขาดแคลนกำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเห็นชอบร่วมกันจัดทำบันทึกความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน 5 ปี เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้สนับสนุนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ให้มีปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพ เจตคติ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อรับใช้สังคม รวมถึงการพัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอบรมพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยการพัฒนาโครงการวิจัยที่มีความสนใจร่วมกัน และร่วมกันพัฒนาการบริการวิชาการ สนับสนุนการเป็นแหล่งเรียนรู้ สถานศึกษาดูงานของนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองฝ่าย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการ การจัดประชุม เชิงปฏิบัติการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี เป็นหลักสูตรใหม่ที่ออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีในโลกอนาคต ร่วมกับการส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 สำหรับจุดเด่นของหลักสูตร คือ 1.ส่งเสริมทักษะในโลกสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์วิทยาการข้อมูล และการประกอบการธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพในอนาคต 2.เสริมสร้างทักษะเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เข้มข้นให้กับนักศึกษาโดยความร่วมมือด้านวิชาการกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศ
“นอกจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว นักศึกษาจะได้ฝึกทำโครงงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมการบริการวิชาการ รวมถึงได้ฝึกประสบการณ์การทำงานในสถานที่จริง มีความพร้อมทางด้านอาคารสถานที่ สำหรับการจัดการเรียนการสอน และเมื่อสำเร็จการศึกษานักศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ นักวิทยาศาสตร์สารสนเทศสุขภาพ นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการด้านสุขภาพ ผู้ประกอบการ/ผู้แทนจำหน่าย ยา เครื่องมือ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการช่วยดูแลสุขภาพประชาชน” รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก กล่าว