การประชุม ISTH 2024 รวบรวมการอภิปรายทางวิทยาศาสตร์ การค้นพบครั้งสำคัญ การจัดแสดงนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมการแพทย์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายวิชาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ซึ่งการประชุมนานาชาตินี้ถือเป็นการกลับมาของ ISTH ในภูมิภาคเอเชีย หลังจากการประชุมที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่นในปี 2011 และเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากร นวัตกรรมทางการแพทย์ และระบบสุขภาพชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร. ฟลอร่า เพย์แวนดี้ ประธาน องค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (ISTH) กล่าวว่า "เราเลือก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยเหตุผลของทำเลที่สะดวกสบายที่สุดสำหรับผู้เข้าร่วมงานของเรา โดยสถานที่แห่งนี้สามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายของการประชุม ISTH 2024 ระดับโลก ทั้งการนำเสนอผลงานวิจัย การเรียนการสอน การบรรยายที่ทันสมัย นิทรรศการทางการแพทย์ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ ประธาน ISTH 2024 ประจำปี 2567 – 2569 และหัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ISTH 2024 ได้สะท้อนถึงศักยภาพของที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ในฐานะ ‘ศูนย์กลางการรวบรวมนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์’ การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับชุมชนวิทยาศาสตร์ และคลินิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาภาวะการแข็งตัวของเลือด และการห้ามเลือด อันนำไปสู่การกำหนดทิศทางของการปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกในด้านดังกล่าว”
ด้าน สุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์ฯ สิริกิติ์ กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งของประเทศไทย และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่จัดงานประชุม ISTH 2024 โดยเราคาดหวังว่า ความพร้อมของพื้นที่การจัดงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และร้านค้า บริการในโซนรีเทลของเรา จะตอบโจทย์การจัดงานขนาดใหญ่ระดับโลกขององค์การสากล ISTH และสร้างความประทับให้กับผู้เข้าร่วมงาน อันนำมาซึ่งความสำเร็จในการประชุมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเชื่อมโยงของบุคลากรในแวดวงการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันให้เป็นไปอย่างราบรื่น นำไปสู่การยกระดับการรักษาและเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้ป่วยทั่วโลกต่อไป”