สิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกับตนมีสิทธิได้รับสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยที่กองทุนประกันสังคมมีเจตนารมณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกันตนภายใต้หลักการของการร่วมจ่ายเงินสมทบจากบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อนำเงินสมทบที่ได้มาจัดสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน 7 กรณี ได้แก่
1) ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค
2) ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
3) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
4) ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
5) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
6) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และ
7) ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ยกเว้นผู้ประกันตนตามมาตรา 39
ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีดังกล่าว เป็นสิทธิประโยชน์หลักที่ผู้ประกันตนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ประกันตนนั้นจะเป็นผู้ประกันตนสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ สปส. ได้มีแนวทางขยายความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
2) สิทธิประโยชน์หลักของผู้ประกันตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่ได้รับความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนใน 4 กรณี ได้แก่
1) ค่ารักษาพยาบาล
2) ค่าทดแทนรายเดือน ซึ่งจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ เจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท)
3) ค่าทำศพ และ
4) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู
ซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนฯ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาคไม่ว่าลูกจ้างนั้น จะมีสัญชาติไทยหรือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน
บันทึกประชุมครม.
30 กรกฎาคม 2567 เรื่องที่ 9