ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

มาตรการจำกัดความเร็วแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้จริงหรือ - ดร.พนิต ภู่จินดา

มาตรการจำกัดความเร็วแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้จริงหรือ - ดร.พนิต ภู่จินดา Thumb HealthServ.net
มาตรการจำกัดความเร็วแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้จริงหรือ - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net

จั่วหัวแปลก ๆ เรียกเสียงโห่แบบก็เพราะมีคนพูดกันอยู่เสมอว่า ขับรถบนทางหลวงสายประธานหรือ Autobahn ที่เยอรมันคงจะสนุกดี เพราะไม่มีเขตจำกัดความเร็ว จะได้เหยียบได้เต็มศักยภาพของเครื่องยนต์ที่เสียตังค์ซื้อมาใช้ แต่ในมุมหนึ่งก็ให้สงสัยว่า ถ้าปล่อยให้ขับโดยไม่จำกัดความเร็ว ความปลอดภัยในการสัญจรทางถนนก็น่าจะลดลง นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิตกันมากมายหละสิ

 
แต่พอไปค้นหาอัตรการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เจอข้อมูลที่สวนทางกับสิ่งที่คาดไว้ ในปี 2013 ประเทศเยอรมนีปล่อยให้รถยนต์สี่ล้อส่วนบุคคลวิ่งบนทางหลวงระหว่างเมืองได้โดยไม่กฎหมายจำกัดความเร็วมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพียง 4.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วนประเทศไทยที่มีกฎหมายจำกัดความเร็ว (Speed Limit) มีการตั้งด่านอย่างเข้มงวด มีกล้องวงจรปิดคอยดักจับและมาตรการอื่น ๆ อีกมากมายกลับมีอัตรการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คนในปีเดียวกัน แสดงว่ามาตรการจำกัดความเร็วไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุใช่หรือไม่

 
ถนนระดับ Autobahn หรือทางหลวงสายประธานของเยอรมันไม่มีเขตจำกัดความเร็วทั้งหมดจริงหรือ คำตอบคือไม่จริง เพราะมีเขตจำกัดความเร็วที่ 130kmh แต่ก็มีแค่สิบกว่ากิโลเมตรในเขตเมืองเบรเมนทางตอนเหนือของประเทศเท่านั้น ที่เหลือไม่มีเขตจำกัดความเร็วใดๆ มีแค่คำแนะนำว่าไม่ควรขับเร็วเกิน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ขับเร็วกว่านั้นก็ไม่ผิดกฏหมายนะ

ฟังดูน่าแปลกใจดี สำหรับวิถีของคนเยอรมันที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทั้งของส่วนตัวและส่วนรวมเป็นอย่างมาก

แต่ตามหลักการวางแผนจราจร การไม่ใช้มาตรการจำกัดความเร็วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

พวกเราคนไทยนี่แหละที่แปลก ดันไปทึกทักเอาว่าการจำกัดความเร็วคือเครื่องมือวิเศษเพียงมาตรการเดียวที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่จริงๆ แล้วมีมาตรการอื่นๆ อีกมากมายที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ และอาจจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าการจำกัดความเร็วเสียอีก


 
มาตรการจำกัดความเร็วแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้จริงหรือ - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ

เยอรมันเขาเลือกใช้มาตรการอื่น ๆ โดยไม่ใช้มาตรการจำกัดความเร็วบนถนนสายประธานอย่างไรเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

1. การควบคุมการได้มาซึ่งใบขับขี่ ที่เยอรมัน ใบขับขี่ได้มายากมากๆ ต้องเรียนและสอบไม่ง่ายเลย แต่ถูกยึดหรือพักการใช้ใบขับขี่ง่ายมาก ถามว่ายากแค่ไหน คำตอบคือ มิคาเอล ชูมัคเกอร์ แชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง (Formula 1) เจ็ดสมัยสอบไม่ผ่านมาแล้วหละครับ

2. กฏหมายควบคุมระยะห่างจากรถคันหน้าเข้มงวดมาก ปรับ 375 ยูโร ยึดใบขับขี่ 3 เดือน ระยะห่างจากคันที่กฎหมายกำหนดคือ ครึ่งหนึ่งของความเร็ว (มีหน่วยเป็นเมตร) แปลว่าถ้าวิ่งเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องมีระยะห่างจากรถคันข้างหน้าไม่น้อยกว่า 50 เมตร ดังนั้น โดยหลักแล้วอุบัติเหตุทางถนนลดลงด้วยกฏหมายนี้

3. มีแต่รถยนต์ส่วนตัวเท่านั้นที่วิ่งได้โดยไม่จำกัดความเร็ว รถประเภทอื่นถูกจำกัดหมด เช่น รถบรรทุกและ รถบัสผู้โดยสารขับได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น และต่อให้คุณขับรถยนต์สี่ล้อแต่ติดรถพ่วงขนของต่อท้าย ก็ถูกจำกัดความเร็วเช่นกัน

4. ถนนแบบ Autobahn มี 6 เลน ข้างละ 3 เลน ขับขี่ชิดขวาคนละฝั่งกับประเทศไทย ช่องทางด้านซ้ายสุดมีไว้สำหรับแซงเท่านั้น ห้ามวิ่งแช่อยู่ช่องทางซ้ายตลอด แซงเสร็จแล้วต้องกลับมาอยู่ช่องกลาง อีกทั้งยังมีมาตรการว่าช่องทางอื่นๆ ยกเว้นเลนขวาสุดมีข้อกำหนดความเร็วขั้นต่ำ อย่าคิดว่าขับรถช้าบนถนนสายประธานแล้วจะปลอดภัย แต่ขับด้วยความเร็วเท่ากับคันอื่นๆ จะปลอดภัยกว่าเยอะ มาตรการนี้จะใช้ไม่ได้เลยถ้าเลือกใช้มาตรการจำกัดความเร็ว เพราะจะมีคนขับจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่าฉันขับอยู่ที่ความเร็วสูงสุดตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นฉันขับรถบนช่องทางไหนก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย รถคันอื่นจะแซงฉันได้อย่างไร ถ้าแซงก็แปลว่าวิ่งเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดสิ แต่การขับแบบแช่ขวาด้วยความเร็วเท่ากับที่กฎหมายกำหนดนำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากในประเทศไทย

5. ตำรวจทางหลวงนอกเครื่องแบบ คุณไม่มีทางรู้ว่ารถคันข้างๆ คุณคือตำรวจหรือเปล่า รถธรรมดา แต่งตัวธรรมดา ถ้าเขาจะจับคุณ ป้าย Polizei ที่แปลว่า ตำรวจ จะพับตั้งขึ้นมาในส่วนคอนโซลหลังและเอามือออกมาชูไฟกลมๆ ให้คุณจอด การไม่รู้ว่าตำรวจอยู่ตรงไหนบ้างป้องกันการละเมิดกฎหมายได้ดีนัก
 

สรุปความง่ายๆ และตรงไปตรงมาแบบเยอรมันว่า มาตรการจำกัดความเร็วในการสัญจรบนถนนสายประธานไม่ใช่ยาวิเศษของการป้องกันอุบัติภัยทางถนน แต่ต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพผู้ขับรถ การจัดการช่องจราจรตามสมรรถนะของรถ และการจัดสรรช่องจราจร รวมถึงการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการบริหารจัดการพฤติกรรมมนุษย์ต้องใช้เครื่องมือหลากหลายเพื่อจะลดและป้องกันความเสี่ยงได้ทุกมิติ คิดแบบชั้นเดียวเชิงเดียวแบบที่ประเทศไทยทำมาตลอดคงไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป


ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่ใน Rabbit Today เมื่อปี 2018

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด