23 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565
- สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
- สาขาการสาธารณสุข ได้แก่
นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี (Douglas R. Lowy, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ (John T. Schiller, Ph.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer, MB.ChB, M.D.) จาก ออสเตรเลีย / สหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งสิ้น 88 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2564, 2563, 2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565
30 ปี 90 ท่าน
โดยระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 90 ราย เป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552
5 ราย ได้รับรางวัลโนเบล
มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 5 รายซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่
ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข
ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551
ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิด สเตรฟโตมัยซีส เอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin เพื่อใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558
ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม china cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558
เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล100,000 เหรียญสหรัฐ
พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2565
วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2565 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ในปีพุทธศักราช 2565 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทั้งสิ้น 88 ราย จาก 34 ประเทศ ผลปรากฏว่ามีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจ าปีพุทธศักราช 2565 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุขได้แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี (Douglas R. Lowy, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ (John T. Schiller, Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer, MB.ChB, M.D.) จาก สหราชอาณาจักร/ออสเตรเลีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาการแพทย์ แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาการสาธารณสุข แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาการสาธารณสุข แก่ ดร.จอห์น ที. ชีลเลอร์ จากสหรัฐอเมริกา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาการสาธารณสุข แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ จากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย (นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูต ออสเตรเลียประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรับพระราชทานรางวัล) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2565
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาต่อสาขาวิชาอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคไต จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
ในการดูแลรักษาโรคเบาหวานซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกนั้น การให้การรักษาที่เหมาะสมมีความสำคัญทั้งเพื่อป้องกันการเกิดโรคและลดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ได้ศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวานและพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการดูดน้ำตาลกลับที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางขนส่งร่วมระหว่างเกลือโซเดียมและน้ำตาลกลูโคส จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) และยาในกลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลผ่านช่องทางขนส่งร่วมที่ไตนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ยังนำเสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนักเพื่อทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ซึ่งแนวคิดและผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ในการศึกษาต่อยอดและเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ผลงานการศึกษาของศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ซึ่งได้เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐาน ด้านกลไกการเกิดโรค ได้ถูกนำไปพัฒนาและศึกษาต่อยอดจนเกิดแนวทางในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างมาก ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี (Douglas R. Lowy, M.D.) รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หลังจากฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และแพทย์ประจำบ้านสาขาวิชาตจวิทยา มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา แล้วได้เข้าทำงานที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติจนถึงปัจจุบันปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ (John T. Schiller, Ph.D.) นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ต่อจากนั้น ทำงานเป็นนักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติตลอดมาปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยดีเด่นของสถาบันสุขภาพแห่งชาติและรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer, MB.ChB., M.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย / สหราชอาณาจักร
ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร ฝึกอบรมเป็นอารยุรแพทย์โรคไตและวิทยาภูมิคุ้มกัน หลังจากย้ายถิ่นฐานไปพำนักในประเทศออสเตรเลียแล้ว สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี และ ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของ ฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งอนุภาคคล้ายไวรัสนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี ขณะเดียวกันศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ ก็ได้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอนุภาคคล้ายไวรัสเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และสามารถนำเสนอลักษณะทางแอนติเจนที่เป็นธรรมชาติต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ผลงานของนายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี, ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ เป็นงานต่อยอดของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส และลดการเสียชีวิตได้จำนวนมากมายทั่วโลก