ในปัจจุบันสามารถพบโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่มีอายุน้อย สาเหตุจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ยังขึ้นอยู่กับการใช้งานเข่า การทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การเดินขึ้น-ลงบันได รวมทั้งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการกระแทกอย่างรุนแรงของข้อเข่า ทำให้มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อน หรือเส้นเอ็นภายในข้อเข่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาทางการแพทย์ ทำให้สามารถรับมือกับโรคภัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม โดยใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาอำนวยความสะดวก โดยเล็งผลในด้านประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ตรงจุดและปลอดภัย
นพ.พิชิต กังวลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า ในปัจจุบันวงการแพทย์มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างแพร่หลายตามมาตรฐานระดับสากล ไม่ใช่แค่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านของการอำนวยความสะดวกแก่คนไข้เท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดประโยชน์ทางการรักษาที่เพิ่มคุณภาพบริการ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จึงมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการรักษาและนวัตกรรมทางการแพทย์เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นต้น ทั้งนี้การให้บริการของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เราได้ผนวกความชำนาญการเฉพาะทางของแพทย์แต่ละสาขา พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ ผสมผสานไปกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า โดยนำมาปรับใช้ร่วมกับการรักษาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ.พิชญา นาควัชระ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลฯเปิดตัวนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะครั้งนี้ เพื่อมาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งทำการผ่าตัดผ่านการควบคุมของทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อที่ชำนาญการ ทำให้การผ่าตัดโดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยากมีความตรงจุดมากขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ข้อดีอีกประการหนึ่งคนไข้จะได้รับโดยตรงคือ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำ CT Scan ทำให้คนไข้ลดการสัมผัสต่อรังสีเนื่องจากคุณสมบัติของหุ่นยนต์รุ่นนี้ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยเทคนิคการจำลองข้อเข่าสามมิติและแผนการผ่าตัดเสมือนจริง ช่วยให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมีความตรงจุดมากขึ้น
รศ.นพ.สาธิต เที่ยงวิทยาพร ประธานอนุสาขาข้อสะโพกข้อเข่าราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หัวหน้าทีมแพทย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพก และแพทย์ที่ปรึกษาของศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งมีประสบการณ์ในการผ่าตัดด้วยเทคนิคการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด ไม่ต่ำกว่า 150 ราย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งการส่งผู้ป่วยตรวจ CT SCAN โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอัจฉริยะแบบแผลเล็ก Robotic Assisted Total Knee Arthroplasty ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ตรงจุดมากขึ้น และยังช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด ในการคำนวณการปรับความตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าให้เป็นไปอย่างเหมาะสมโดยระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะประมวลผลข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นรูปแบบจำลองของกระดูกคนไข้ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลของคนไข้แต่ละราย
นอกจากนี้ยังสามารถจำลองแผนการผ่าตัดเสมือนจริงส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือผ่าตัดแบบเดิม ๆ อีกทั้งเครื่องกรอกระดูกที่ควบคุมโดยระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้รับการออกแบบให้มีขนาดเล็ก เหมาะสมถนัดมือช่วยให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดทำการตัดกรอกระดูกเฉพาะส่วนที่ต้องการออก จึงลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงรอบ ๆ ข้อเข่า และลดการบาดเจ็บต่อกระดูก โดยให้เป็นไปตามที่ได้กำหนดและวางแผนไว้ ทั้งนี้เพื่อสามารถเตรียมกระดูกให้มีขนาดพอดีกับการใส่ข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมต่อไป หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดช่วยศัลยแพทย์กำหนดขนาดและตำแหน่งการวางข้อเทียมได้อย่างตรงจุดส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมยาวนานขึ้น โดยรวมแล้วผู้ป่วยจึงฟื้นสภาพข้อเข่าได้เร็ว สามารถเดินลงน้ำหนักและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ต้องการช่วยให้ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ผ่านพ้นความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดข้อเข่าและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์อัจฉริยะแบบแผลเล็ก Robotic Assisted Total Knee Arthroplasty ได้สะดวก ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อีกทั้งในอนาคตทางศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมสอนแสดงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าให้แก่แพทย์ พยาบาล เพื่อเป็นวิทยาทานและร่วมพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติต่อไป