ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เพราะอะไรถึงต้องส่องกล่องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น

เทคนิคพิเศษที่จะตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยจะใช้กล้องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ ซึ่งแพทย์จะใส่สายยางเล็กที่มีเลนส์และแสงไฟสว่างที่ปลาย ส่องกล้องเข้าทางปาก โดยภาพจะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพคมชัด และชัดเจน แม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์ และหลังจากส่องตรวจเสร็จสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper Gastrointestinal Endoscopy : Esophagogastroduodenoscopy)

 
 
            เทคนิคพิเศษที่จะตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยจะใช้กล้องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ ซึ่งแพทย์จะใส่สายยางเล็กที่มีเลนส์และแสงไฟสว่างที่ปลาย ส่องกล้องเข้าทางปาก โดยภาพจะปรากฏบนจอโทรทัศน์  ให้คุณภาพคมชัด และชัดเจน แม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์ และหลังจากส่องตรวจเสร็จสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที
 
 
            การส่องกล้องจะทำให้เห็นเยื่อบุกระเพาะ เพื่อดูการอักเสบ ดูแผลในกระเพาะ ดูเนื้องอก นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หาเซลล์มะเร็ง , เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย ร่วมไปถึงการส่องกล้องเพื่อรักษาห้ามเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นได้
 
 
เพราะอะไรถึงต้องส่องกล่องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น ?
 
            แพทย์จะใช้การส่องกล้องเพื่อตรวจสาเหตุของโรคหรืออาการดังต่อไปนี้
 
- ปวดท้องช่วงบนของท้อง ปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดเป็นๆหายๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ปวดมานานกว่า 1-2 สัปดาห์
 
- อาเจียนโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
 
- กลืนอาหารลำบาก , จุกแน่นคอ
 
- ท้องอืด มีลมในท้องมาก เรอบ่อย รับประทานอาหารได้น้อย หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย 
 
- เลือดออกทางเดินอาหาร : อาเจียนเป็นเลือด , ถ่ายอุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน หรือโลหิตจาง ซึ่งอาจจะมีแผลเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยอาจจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
 
 
ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนมาตรวจ ?
 
 
1. ห้ามรับประทานอาหาร และดื่มน้ำทุกชนิดก่อนมารับการตรวจ อย่างน้อย 6-8 ชม. ก่อนตรวจ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่ากระเพาะอาหารว่างเปล่า ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และป้องกันอันตรายที่เกิดจากการสำลักอาหารและน้ำเข้าไปในหลอดลมขณะที่กลืนกล้องลงสู่ลำคอและระหว่างส่องกล้อง
 
 
2. ในรายที่มีฟันปลอมถอดได้ ต้องถอดออก หรือมีฟันโยกจะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อป้องกันการหลุดและอุดกลั้นทางเดินหายใจ
 
 
3. แนะนำให้คนไข้ไม่ควรสวมเครื่องประดับติดตัวมา
 
 
4. ควรมีญาติมาด้วย หากในรายที่แพทย์พิจารณาให้ฉีดยาคลายกังวลหลังจากตรวจไม่ควรขับรถด้วยตนเอง
 
 
5. ถ้ามีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ในบางกรณีแพทย์อาจจะพิจารณาให้งดยาละลายลิ่มเลือดก่อนส่องกล้อง อย่างน้อย 3-7 วัน
 
 
อะไรจะเกิดขึ้นบ้างกับตัวท่านบ้าง ขณะได้รับการตรวจ ?
 
1. เมื่อถึงห้องตรวจผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาที่คอ สามารถกลืนลงไปได้เลยโดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้ลำคอหมดความรู้สึกเจ็บชั่วคราว ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายอาจจะรู้สึกแสบในลำคอช่วงแรกๆของการพ่นยา หากผู้ป่วยบางรายมีอาการหวาดกลัว กระสับกระส่าย แพทย์อาจจะต้องพิจารณาให้ยาคลายกังวล หรือยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ
 
 
2. ขณะส่องกล้องจะต้องให้นอนตะแคงซ้าย หลังจากจะใส่ที่กันกัดกล้องให้ผู้ป่วยกัดไว้ในปาก ซึ่งจะมีรูเปิดไว้สำหรับให้กล้องผ่านลงไปได้
 
 
3. หลังจากนั้นแพทย์จะทำการส่องกล้อง โดยจะผ่านจากปากเข้าไปในลำคอ โดยผู้ป่วยจะต้องกลืนกล้อง เพื่อให้สู่หลอดอาหาร หากมีน้ำลายควรปล่อยไหลออกมา ห้ามกลืนเพราะอาจจะเกิดการสำลักได้ ซึ่งขณะส่องกล้องแนะนำให้ผู้ป่วยผ่อนลมหายใจเข้าออก เพื่อบรรเทาอาการแน่นอึดอัดท้อง จะใช้เวลาส่องตรวจประมาณ 10-15 นาที  
 
 
 
 การปฏิบัติตัวหลังได้รับการส่องตรวจ ?
 
1. ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีเสมหะติดอยู่ในลำคอ หรือรู้สึกหนาๆ ภายในลำคอ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาชา จะคงอยู่ประมาน15-30 นาที หลังจากหมดฤทธิ์ยาชาแล้ว อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเป็นปกติเช่นเดิมเอง 
 
 
2. ระหว่างคอชาอยู่ ให้บ้วนน้ำล้างปากได้ เพียงแต่อย่างรีบดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารเพื่อป้องกันการสำลัก
 
 
3.หลังจากคอหายชาแล้วให้เริ่มจิบน้ำก่อน เพื่อทดสอบการกลืนว่าเป็นปกติหรือยัง จึงให้รับประทานอาหารได้ ควรเป็นอาหารอ่อนก่อน เพื่อให้สามารถกลืนได้ง่ายขึ้น ไม่ควรรับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด
 
 
5. หากผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยาฉีดเพื่อนอนหลับให้คลายกังวล อาจจะมีอาการง่วงอยู่จะต้องนอนพักฟื้นต่อสังเกตอาการรอให้ตื่นรู้สึกตัวดีก่อนประมาณ 90 นาที หากเห็นว่าปลอดภัยดีแล้วจึงจะฟังผลตรวจกับแพทย์ และจะให้ย้ายกลับหอผู้ป่วย หรือกลับบ้านได้
 
 
6.สำหรับผู้ป่วยที่กลับบ้านได้ เมื่อกลับบ้านแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการรับประทานยาและอาหารให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ควรมารับการตรวจรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
 
 
 
 การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
 
         การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)  เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่  โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ผอม ยาว และยืดหยุ่นได้ มีกล้องวีดีโอและดวงไฟขนาดเล็กมาก ติดอยู่ที่ปลายท่อ เมื่อทำการขยับและปรับกล้องส่องลำไส้ใหญ่อย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์จะสามารถเคลื่อนไหวกล้องให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ภาพที่กล้องบันทึกได้ใน
 
ลำไส้ใหญ่จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพความชัดที่ดี และสามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ซึ่งจะให้ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการทำเอกซเรย์
 
 
 
โดยการส่องกล้องตรวจควรทำในผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้
 
• มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระเช่นท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
 
• ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
 
• เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก
 
• มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด และปวดท้องร่วมด้วย
 
• มีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย
 
• ผู้ที่มีอายุ 50ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุกๆ3-5 ปี
 
 
 
สิ่งที่ตรวจพบจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
 
• ริดสีดวงทวาร
 
• ลำไส้อักเสบ
 
• ติ่งเนื้อ
 
• หลุมในลำไส้ใหญ่ (Diverticulum)
 
• เนื้องอก
 
• มะเร็งลำไส้ใหญ่
 
 
การเตรียมตัวก่อนการรับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่
 
• 3 วันก่อนตรวจ ให้รับประทานอาการอ่อนย่อยง่าย
 
• งดรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใย
 
• รับประทานยาระบายให้ครบตรงตามจำนวน และเวลาที่แพทย์สั่ง
 
• คืนวันก่อนตรวจ งดอาหารและน้ำดื่ม จนกว่าจะทำการตรวจ
 
• ควรมีญาติมาด้วย (ในบางรายอาจได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำทำให้ไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ)และเมื่อตื่นจากฤทธิ์ยานอนหลับ อาจมีอาการง่วงซึมได้
 
        ขณะตรวจผู้ป่วยอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระหรืออึดอัดแน่นท้อง เนื่องจากแพทย์ได้เป่าลมให้ลำไส้ขยายเพื่อดูพยาธิภาพภายใน อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้โดยปฏิบัติ ดังนี้
 
• หายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก
 
• ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง
 
• ห้ามดิ้น หรือขยับตัวขณะแพทย์ส่องกล้อง
 
 
อาการที่อาจพบได้ภายหลังการตรวจ
 
• ท้องอืด แน่นท้อง จะทุเลาลงเมื่อผู้ป่วยผายลม
 
• เจ็บ บริเวณท้องน้อย หรือทวารหนัก อาการเหล่านี้ จะค่อยๆทุเลาลงและหายไป
 
การปฏิบัติตัวหลังส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
 
• ให้สังเกตอุจจาระ อาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย หรือถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
 
• ห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
 
เนื่องจาก ยังมีฤทธิ์ยานอนหลับค้างอยู่ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการง่วงซึม
 
• มีอาการผิดปกติ เช่นปวดท้องมาก ท้องแข็ง มีไข้สูง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
 
• ติดตามการรักษาและมาตรวจตามนัด
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
             มหาวิทยาลัยมหิดล. ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร. “การส่องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น”. [ ระบบออนไลน์ ]. แหล่งที่มา http://www.si.mahidol.ac.th/office_d/adm/Gi_scope/egd.html (07 กันยายน 2560.)
 
            โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร. “การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น”.
 
[ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.bumrungrad.com.th/digestive-diseases-gi-center-tretment-bangkok-thaoland/procedures/upper-gi-endoscopy#Benefits (07 กันยายน 2560).
 
            “การส่องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://siamhealth.net/public_html/investigation/gi/endoscope.htm#.WbiAS6gxWEd (07 กันยายน 2560). 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด