27 มีนาคม 2567. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย และพบสัตว์ป่วยตาย ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ตั้งแต่ปี 2544 หลังมีรายงานการเกิดโรคใน สปป.ลาว ได้กำชับให้กรมควบคุมโรคประสานหน่วยงานในพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะด่านช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคแอนแทรกช์ จะมีการสอบสวนโรคและรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที สำหรับประชาชน หากพบโค-กระบือป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญ ห้ามสัมผัสเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด และหากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
“จากการติดตามข้อมูลของ สปป.ลาว พบว่ามีการออกประกาศแนวทางควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทั้งห้ามซื้อขายและเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกภายในเมืองโดยเด็ดขาด ห้ามโรงฆ่าสัตว์ชำแหละโค-กระบือในเมือง ห้ามประกอบอาหารจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้เจ้าของกักขังสัตว์เลี้ยงของตนเพื่อติดตามอาการ หากสัตว์ป่วยซึม ไม่กินอาหาร ขาบวม ท้องโต ให้แยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษา และให้ติดตามเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากเกิดโรคให้รายงานสัตวแพทย์ในพื้นที่” นพ.โอภาสกล่าว
สำหรับ
โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจากเชื้อ Bacillus anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัสเชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า อาการป่วยแบ่งเป็น 3 ระบบตามการสัมผัสเชื้อ คือ 1.อาการทางผิวหนัง จะมีแผลลักษณะคล้ายบุหรี่จี้บริเวณที่สัมผัสเชื้อ คือ แผลเป็นสีดำและขอบบวมแดง 2.อาการระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานเนื้อสัตว์ป่วยตายดิบๆ หรือปรุงไม่สุก ทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องอย่างรุนแรง มีอัตราป่วยตายร้อยละ 50-60 และ 3.อาการระบบทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาสปอร์เชื้อเข้าไป ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ ปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้ อัตราการป่วยตายสูงถึงร้อยละ 80–90 แต่มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน
กรมปศุสัตว์เผยเกิดจากกินเนื้อวัวควายดิบ
9 มี.ค. 67 กรมปศุสัตว์ได้แจ้งเตือนการพบโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในประเทศลาว โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อโค - กระบือดิบ โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีรายงานข่าวต่างประเทศว่า พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 3 รายที่เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus anthracis) สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนเข้าไป เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมสร้างสารพิษทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด
ทั้งนี้ระหว่างสัตว์ป่วย เชื้อถูกขับออกมากับอุจจาระปัสสาวะหรือน้ำนม เมื่อเปิดผ่าซาก เชื้อสัมผัสกับอากาศจะสร้างสปอร์ทำให้คงทนในสภาพแวดล้อมได้นาน โค กระบือ แพะ และแกะที่ป่วยจะมีอาการแบบเฉียบพลันคือ จะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่าง ๆ ซากไม่แข็งตัว สำหรับคนที่ผ่าซากหรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้แบบสุก ๆ ดิบ ๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปากและมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โรคนี้ทำให้คนตายได้หากตรวจพบโรคช้า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย - ลาว เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะที่มีชีวิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้วย เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรค และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ ขอย้ำให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกและเป็นเนื้อสัตว์ที่ทราบแหล่งที่มาเท่านั้น
“หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป พบโค กระบือ แพะ แกะ แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน ห้ามเปิดผ่าซาก ห้ามเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภค ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือ ผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที”
พรบ.ควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์
พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการฆ่าสัตว์และการขนส่งเนื้อสัตว์ รวมถึงการชำแหละและตัดแต่งเนื้อสัตว์เพื่อการจำหน่ายให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย
ผู้ชำแหละและผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์โดยมิได้ถูกฆ่า จะมีความผิดตามมาตรา 36 37 และ 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 กล่าวคือ
- นำสัตว์ที่ตายโดยไม่ได้ถูกฆ่าไปชำแหละเอง โดยไม่ได้ให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ตรวจ มีโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ตามมาตรา 60 คือ โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศ ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกิน 1 พันบาท และสัตว์อื่น ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท
- นำเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการตรวจโรคสัตว์โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์มาชำแหละและตัดแต่งหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่พนักงานตรวจโรคสัตว์ไม่ได้รับรอง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
กรมปศุสัตว์ ขอแจ้งเตือนประชาชน ให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ผ่านการฆ่าชำแหละมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีพนักงานตรวจโรคสัตว์ทำหน้าที่ตรวจสัตว์มีชีวิตก่อนฆ่า ตรวจเนื้อสัตว์ รวมถึงให้การรับรองเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรองให้จำหน่ายมีความปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนอย่าชำแหละซากสัตว์ที่ป่วยตาย และห้ามนำเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายมาบริโภคหรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส โรคไข้หูดับ เป็นต้น
หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างทันท่วงที