ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์

กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์ Thumb HealthServ.net
กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์ ThumbMobile HealthServ.net

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ดำเนินงานวิจัย การนำพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ เพื่อนำไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติด พร้อมทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สกว.)

กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์ HealthServ
ผศ. ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า พืชกระท่อมมีสารสำคัญ ได้แก่ ไมทราไจนีน(Mitragynine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ที่มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้า คลายกล้ามเนื้อลาย ยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น สำหรับอาการถอนยาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมจะไม่แสดงอาการก้าวร้าว ต่างจากกลุ่มที่ติดสารเสพติดประเภทอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์ เป็นต้น ที่มักจะแสดงอาการก้าวร้าวออกมาอย่างให้เห็น
        
    ในตำรายาไทยใบกระท่อม ระบุสรรพคุณใช้ระงับอาการปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย การใช้พืชกระท่อม ณ ปัจจุบันนี้ มีการใช้โดยการเคี้ยวใบสด นำใบสดหรือใบแห้งต้มน้ำดื่ม เพื่อให้ทำงานได้ทนนาน และปัจจุบันในหลายๆ ประเทศได้นำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า เพื่อลดอาการถอนที่เกิดจากการหยุดเสพสารเสพติดดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ กำลังดำเนินงานวิจัยเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) โดยการนำพืชกระท่อมมาพัฒนาเป็นเภสัชตำรับเพื่อนำไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา

 

กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์ HealthServ
ผศ. ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ยังได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับ mitragynine ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้กระท่อมเป็นประจำ ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยศึกษาในคนที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมจำนวน 99 ราย และผู้ใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิมประจำเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จำนวน 192 ราย พบว่า การใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม คือ การเคี้ยวใบสดหรือต้ม/ชงใบพืชกระท่อมแห้งเป็นประจำไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและการทำงานของสมอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เชิงนโยบายในการปลดพืชกระท่อมออกจาก พรบ.ยาเสพติดให้โทษ
      
          อย่างไรก็ตาม การใช้พืชกระท่อมมีทั้งคุณและโทษ หากใช้ในปริมาณที่พอดี จะส่งผลดีต่อร่างกาย แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาหรือสารอื่นๆ 
 
        ทั้งนี้ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการเรื่องพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างแนวทางการทำวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม โดยมีทีมวิจัยที่ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

2021-03-16 
วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะวิทยาศาสตร์
 
กระท่อม จากงานวิจัยสู่เภสัชตำรับ บำบัดผู้เสพยาเสพติด โดย ม.สงขลานครินทร์ HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด