ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศใช้แล้ว

พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศใช้แล้ว Thumb HealthServ.net
พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศใช้แล้ว ThumbMobile HealthServ.net

พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป กำหนดกลุ่มบุคคลต้องห้ามและสถานที่ต้องห้ามขายใบกระท่อมไว้อย่างชัดเจน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกใบละ 5,000 บาท ต่ออายุใบอนุญาต 5 ปี


พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 26 สิงหาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศ (วันที่ 27 สิงหาคม 2565)


เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการยกเลิกการกำหนด ให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ประชาชนจึงสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จาก พืชกระท่อมได้ ประกอบกับเป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ จึงสมควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาพืชกระท่อม ให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลเฉพาะการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และโดยท่ีการบริโภคใบกระท่อมมากเกินสมควร อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อม เพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น จากการบริโภคใบกระท่อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 
พ.ร.บ. ได้ระบุ ถึงการออกประกาศ/กฏกระทรวง เพื่อให้ปฏิบัติการตามได้ ในมาตรา 5 ว่า  
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกประกาศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน
 
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ 
 
กฎกระทรวงและประกาศ จะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเช่นกัน

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 

  • นำเข้า ฉบับละ 5,000 บาท
  • ส่งออก ฉบับละ 5,000 บาท
  • ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท
  • การต่อใบอนุญาต  5,000 บาท

 
 

สาระสำคัญของพ.ร.บ.พืชกระท่อม



บัญญัติไว้ดังนี้ 
 
การใช้ใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้

รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจาก
การบริโภคใบกระท่อมและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด
 


 

นิยามคำสำคัญในพ.ร.บ.

 
"พืชกระท่อม" หมายความว่า พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. 
 
"ใบกระท่อม" หมายความว่า ใบของพืชกระท่อม และให้หมายความรวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อมและสารสกัดที่ได้จากใบของพืชกระท่อม 
 
"นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร "ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร 
 
"ขาย" หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้ "บริโภค" หมายความว่า กิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใด ๆ
 
"โฆษณา" หมายความรวมถึงกระทำการไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือ
ทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
 
"การสื่อสารการตลาด" หมายความว่า การกระทำในรูปแบบต่าง ๆ โดยการโฆษณาการประชาสัมพันธ์ การสร้างข่าว การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขายการตลาดแบบตรง การขาย หรือส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคลเป็นการเฉพาะ และการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าหรือบริการ หรือสร้างภาพลักษณ์
 
"ข้อความ" หมายความรวมถึงตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหว แสง เสียง เครื่องหมายหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้
 
"ผู้รับใบอนุญาต" หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อมตามมาตรา 10
 
"ผู้อนุญาต" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย 
 
"เลขาธิการ ป.ป.ส." หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
 
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
 
 
 
 

มาตรการคุ้มครองบุคคล

 
พ.ร.บ. พืชกระท่อม ฉบับนี้ ได้ระบุถึง "การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อมและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด" ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
 
 
ประเภทบุคคลต้องห้าม 
 
มาตรา 24 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคล ดังต่อไปนี้
(1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
(2) สตรีมีครรภ์
(3) สตรีให้นมบุตร
(4) บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด
 
ให้ผู้ขายมีหน้าที่ปิดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่ขาย ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง 
 
ในกรณีที่เป็นการขายโดยวิธีการหรือในลักษณะอื่น เช่น การขายทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการดังกล่าวด้วย 
 
ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับแก่อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารตามชนิดและประเภทที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
 
 
 
 

สถานที่ต้องห้าม

 
มาตรา 25 ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมในสถานที่ โดยวิธีการ หรือในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(2) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(3) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
(4) ขายโดยใช้เครื่องขาย
(5) ขายในสถานที่ โดยวิธีการ หรือในลักษณะอื่นใด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด
 
 
 
มาตรา 26 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อมโดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
หรือวัตถุอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 
 
 
มาตรา 27 ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
หรือวัตถุอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการบริโภคตามวัตถุประสงค์
ดังต่อไปนี้
 
(1) เพื่อการรักษาโรค บำบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยภายใต้การกำกับดูแลของ
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์
แผนไทย
 
(2) เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของผู้ทำการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยนั้น หรือคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดในกรณีที่เป็นการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย ที่ดำเนินการร่วมกันหลายองค์กรหรือหลายหน่วยงาน
 
 
มาตรา 28  ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นบริโภคใบกระท่อมตามมาตรา 27
 
 
มาตรา 29 บทบัญญัติมาตรา 24 และมาตรา 28ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
 
(1) เพื่อการรักษาโรค บำบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
 
(2) เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของผู้ทำการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยนั้น หรือคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดในกรณีที่เป็นการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย ที่ดำเนินการร่วมกันหลายองค์กรหรือหลายหน่วยงาน
 
 
 
 
 
 
 
 

การขออนุญาต ใบอนุญาต

 
1. การยื่นคำขอ การอนุญาต การออกใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต
การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบรับแจ้งและใบแทนใบรับแจ้ง การสั่งการ และการแจ้ง รวมตลอดทั้ง การออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม  สามารถทำผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ได้ 
 
2. การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการอนุญาต ต้องให้เสร็จสิ้นใน 45 วัน


 
 

กำหนดหน้าที่ของปปส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด)


ดังนี้
 
(1) สนับสนุนประชาชนในการเพาะ ปลูก หรือแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อใช้ตามวิถีชุมชนและในการพัฒนาให้เป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ
 
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งการเพาะ ปลูก แปรรูปพืชกระท่อม หรือการพัฒนาสายพันธุ์ของพืชกระท่อม การผลิต การจัดการ และการตลาด รวมทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์และโทษจากพืชกระท่อมและใบกระท่อมในการคุ้มครองสุขภาพของบุคคล
 
(3) ให้ความรู้ และจัดทำเอกสารคำแนะนำ คู่มือ หนังสือวิชาการ หรือเอกสารอื่นใดที่ส่วนราชการจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม โดยไม่ต้องเสียค่าเอกสาร
 
 
 

การนำเข้า ส่งออก

 
- ผู้จะนำเข้า-ส่งออก ต้องมีใบอนุญาต
- การนำเข้า-ส่งออกแต่ละครั้ง ต้องแจ้งขออนุญาตทุกครั้ง
- หลักเกณ์การนำเข้า-ส่งออก เป็นไปตามที่กำหนดในกฏกระทรวง 
- กฏกระทรวงอาจกำหนดปริมาณการนำเข้า-ส่งออกแต่ละครั้งได้
- การนำเข้า-ส่งออกนี้ ไม่บังคับกับการนำติดตัวเข้ามา หรือออกไปนอกประเทศ เพื่อใช้บริโภคส่วนตัว บำบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ของผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศ  โดยปริมาณที่จำเป็น ตามที่กำหนดในกฏกระทรว
 
 

ข้อกำหนดผู้ขออนุญาตนำเข้า-ส่งออก

 
กรณีบุคคลธรรมดา 
 
 สัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีถิ่นอยู่ในราชอาณาจักร และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
(ก) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ข) เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประมวลกฎหมาย
ยาเสพติดในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
(ค) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประมวลกฎหมาย
ยาเสพติดในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันยื่นคำขอรับ
ใบอนุญาต
(ง) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประมวล
กฎหมายยาเสพติดในส่วนที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า
สองปีก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต
 
 
กรณีนิติบุคคล
 
จดทะเบียนตามกฎหมายไทย และ
(ก) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1) (ข) (ค) และ (ง)
(ข) ผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและ
ไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (1)
(ค) กรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามเป็นผู้มีสัญชาติไทย
(ง) มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
 
 
กรณีวิสาหกิจชุมชน 

ตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล ผู้ได้รับมอบหมาย
ให้ดำเนินกิจการแทนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม เช่นเดียวกับกรณีบุคคลธรรมดา 
 
กรณีหน่วยงานของรัฐ

หน่วยงานของรัฐตาม (4) ให้หมายความรวมถึงสภากาชาดไทยและหน่วยงานในกำกับของรัฐด้วย
 


 

เกี่ยวกับใบอนุญาต


 
- ใบอนุญาต มีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต  
- กรณีใบอนุญาตสูญหาย /ชำรุด / ถูกทำลาย ให้แจ้งขอใบใหม่/ใบแทน ภายใน 15 วัน
- กรณีเจ้าของใบอนุญาตตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ทายาทหรือผู้ได้รับความยินยอมจากทายาท แจ้งเพื่อขอดำเนินการต่อภายใน 180 วัน 
* หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับใบอนุญาตจะเป็นไปตามที่กฏกระทรวงกำหนด
 
 
การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต
 
- คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 120 วัน หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข 
- การพักใบอนุญาตทำได้หากผู้รับฯ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม 
- การอุทธรณ์ ต้องทำเป็นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมภายใน 30 วัน และคำวินิจฉัยของงรัฐมนตรีฯ ถือเป็นที่สุด
 
 

คำถาม - คำตอบเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดย อย. กว่าจะมาเป็น พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 LINK

คำถาม - คำตอบเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดย อย. กว่าจะมาเป็น  พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศใช้แล้ว
คำถาม - คำตอบเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดย อย. กว่าจะมาเป็น  พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ประกาศใช้แล้ว
สรุปคำถาม – คำตอบ จากประชุมชี้แจงการปลดพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ณ ห้องประชุมสำนักวิชำการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  ก่อนจะมาเป็น  พ.ร.บ. พืชกระท่อม 2565 ฉบับนี้ 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด