ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจร เพื่อ การรักษาโควิด-19

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจร เพื่อ การรักษาโควิด-19 HealthServ.net
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจร เพื่อ การรักษาโควิด-19 ThumbMobile HealthServ.net

การวิจัยพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ในเซลล์เนื้อเยื่อ แต่ไม่ยับยั้งการเข้าเซลล์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจร เพื่อ การรักษาโควิด-19 HealthServ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ "สารแอนโดรกราโฟไลด์" ในผลิตภัณฑ์ "ฟ้าทะลายโจร" เพื่อ "การรักษาโควิด-19"

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สยมพร ศิรินาวิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีม.มหิดล
  • นายแพทย์ กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
  • เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • เภสัชกร วรสุดา ยูงทอง อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
 

ฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19

ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) เป็นพืชท้องถิ่นของอินเดียและศรีลังกา และกระจายไปยังเอเชียใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อและอาการหวัด เป็นพืชเขตร้อนชื้น ไม่สามารถปลูกในเขตหนาวหรือเขตอบอุ่นได้
 
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ แอนโดรกราโฟไลด์(andrographolide) และอนุพันธ์ซึ่งมีรายงานการค้นพบในวารสารอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2494 งานวิจัยส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในวารสารของประเทศอินเดียและจีน มีการวิจัยในฐานะเป็นสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสชนิดต่าง ๆนาน กว่า 10 ปีรวมทั้งมีการวิจัยหาขนาดยาและผลข้างเคียง

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การวิจัยพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ในเซลล์เนื้อเยื่อ แต่ไม่ยับยั้งการเข้าเซลล์

ข้อมูลวิจัยการใช้ยาฟ้าทะลายโจร (ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ตามที่กำหนด) รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า มีผลข้างเคียงน้อย และมีประโยชน์ในการรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และผู้มีอาการน้อย (ยังไม่มีปอดอักเสบ) โดยระงับไม่ให้โรครุนแรงขึ้น หายจากการติดเชื้อโดยไม่เกิดปอดอักเสบ นอกจากนี้ ประเทศจีนได้ผลิตแอนโดรกราโฟไลด์ชนิดฉีดในการรักษาโควิด19 ที่อาการรุนแรงกว่า

ฟ้าทะลายโจรมี 3 กลไกที่เกี่ยวข้องในการรักษาโควิด-19 คือ
  1. การยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส (virostatic) ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการเข้าเซลล์หรือกำจัดไวรัส
  2. ลดการอักเสบ ซึ่งมีผลในการลดไข้ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ
  3. ปรับภูมิคุ้มกัน

ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ควรจะได้รับการรักษาด้วยยาฟ้าทะลายโจร

1. ผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร
1.1 ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ
1.2 ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง คือไม่น่าจะมีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อ
การเป็นโรครุนแรง ไม่มีโรคร่วมที่สำคัญ
1.3 ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกรณีที่ยังต้องรอการรับเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

2. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะติดเชื้อ พิจารณาเช่นเดียวกับข้อ1.
โดยไม่ต้องรอผลการตรวจหาไวรัส
 

ขนาดยาที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 โดยการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์

ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่ระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ เท่านั้น
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป คือ
“แอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 5 วัน”
 ใช้ได้ทั้งในรูปแบบ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ ยาผงบดฟ้าทะลายโจร ต้องให้ได้ปริมาณที่
ได้รับใกล้เคียง 180 มก./วัน กรณีตัวอย่าง เช่น
 
1. กรณีที่ฉลากมีการระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ชัดเจน เช่น
ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีการระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 มก./แคปซูล ให้กินครั้งละ
3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
 
2. กรณีที่ฉลากมีการระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์เป็นค่า “ไม่น้อยกว่า หรือ %” เช่น
 2.1 ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร หรือ ยาผงบดฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ซึ่งมีการระบุปริมาณ
“สารแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 12 มก./แคปซูล” ให้กินครั้งละ 5 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
 2.2 ยาผงบดฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ระบุ% เช่น “สารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่น้อยกว่า
2%” (สำหรับ ขนาด 400 มก./แคปซูล เมื่อคำนวนเป็นปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์จะได้ไม่น้อยกว่า
8 มก./แคปซูล) ให้กินครั้งละ 7 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง

3. กรณีที่ฉลากไม่ได้ระบุปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่แนะนำให้นำมาใช้ในกรณีนี้แต่สามารถใช้
ลดไข้ แก้เจ็บคอ บรรเทาอาการหวัด หรือแก้ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อได้ โดยสามารถอ่านคำแนะนำ
การใช้ยาตามฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์นั้น
 
หมายเหตุ: สามารถตรวจสอบปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ในผลิตภัณฑ์
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์โดยสำนักงาน
คณะกรรมการอาหารและยา ได้ที่ fda.moph.go.th/Angrographis

ข้อพึงตระหนัก

1. การใช้เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส (virostatic):
เนื่องจากยาฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซลล์ แล้วร่างกายกำจัดเองจึง "จะได้ผลดีขึ้นเมื่อให้ยาเร็วที่สุด ในขณะที่เป็นการติดเชื้อระยะต้นและเชื้อยังน้อย (ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ) ร่วมกับ “การให้ผู้ติดเชื้อได้พักผ่อนและดูแลสุขภาพให้ดี"
 
 2. "ไม่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ" เพราะยานี้ไม่ป้องกันการที่เชื้อจะเข้าเซลล์ ใช้รักษาในกรณี
ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีการติดเชื้อแล้ว
 
3. กรณีที่ใช้รักษาอาการ เช่น ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส
มีคำแนะนำให้ใช้ขนาดยาน้อยกว่านี้
 
4. เป็น "ยาที่ความปลอดภัยสูง ประเทศไทยผลิตได้เอง ราคาไม่แพง และข้อมูลเบื้องต้นแสดงว่า
มีประโยชน์มาก" ขณะนี้ถือเป็นยาที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นในระดับที่ให้ความเชื่อมั่น
พอควร เช่นเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์จึงสมควรพิจารณาใช้รักษาโควิด-19 และช่วยกันรวบรวม
ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

ข้อจำกัด ข้อห้าม ข้อควรระวัง

ผู้ป่วยเด็ก : ไม่มีข้อมูลขนาดยาที่เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด-19 รวมทั้งยามี
ลักษณะเป็นแคปซูลบรรจุผงยาที่ขมมาก เด็กเล็กจะกินได้ยาก
  • สำหรับเด็กโต อาจพิจารณาใช้ขนาด 3-3.5 มก./น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง
  • เด็กที่น้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กก.ขึ้นไป ใช้ยาในขนาดของผู้ใหญ่

ข้อห้าม : ห้ามใช้ในกรณีต่อไปนี้
  • ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
  • หญิงตั้งครรภ์/อาจจะตั้งครรภ์หญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก เป็นผลให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด หรือ ทารกผิดปรกติ

ข้อควรระวัง :
  • การใช้ร่วมกับยากันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เช่น ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  • การใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือด เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  • การใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์CYP 1A2, CYP 2C9 และ CYP 3A4
  • หากใช้ขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่าที่แนะนำ อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง และผลข้างเคียงอื่นๆ 

อาการไม่พึงประสงค์:

พบได้น้อย
  • อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร มวนท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย กรณีที่มีอาการมาก เมื่อหยุดยาก็จะหายเป็นปรกติ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่น ลมพิษ หน้าบวม ให้หยุดยา กินยาแก้แพ้ พบแพทย์ และห้ามใช้ยานี้อีก
  • ถ้ามีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ความดันต่ำ ให้นั่งหรือนอนพัก อาการจะดีขึ้น ใน 30 นาที

ผลต่อตับ

  • ได้มีความเป็นกังวลถึงผลเสียต่อตับ จากการสื่อสารต่อๆกันโดยวาจา
  • จากการค้นคว้าข้อมูล พบว่าฟ้าทะลายโจรมีผลในการป้องกันและฟื้นฟูสภาพของตับ (hepatoprotection) ใช้ในการรักษาโรคตับหลายชนิด ทั้งตับอักเสบจากไวรัส ไขมันพอกตับ ฯลฯ การใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดสูงหรือเป็นเวลานานเกินกว่าที่แนะนำ อาจทำให้มีการเพิ่มของเอนไซม์ ของตับแต่อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีรายงานการเกิดการทำลายตับตามที่มีการกล่าวอ้างกัน การใช้ยาอื่น ร่วมด้วยหลายชนิดหรือโรคของผู้ป่วย อาจมีผลต่อตับ จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ดี
  • หากมีกรณีที่พบว่ามีการทำลายตับขณะใช้ฟ้าทะลายโจร ควรจะวิเคราะห์และบันทึก รายงานให้เป็นที่ทราบกัน

     
ข้อมูลจาก กองการแพทย์ทางเลือก 
3 กรกฏาคม 2564
[1] Hossain S, Urbi Z, Karuniawati H, et al. Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. ex Nees: An Updated Review of Phytochemistry, Antimicrobial Pharmacology, and Clinical Safety and Efficacy. Life. 2021;11(4):348. https://doi.org/10.3390/life11040348
[2] Dai Y, Chen SR, Chai L, Zhao J, Wang Y, Wang Y. Overview of pharmacological activities of Andrographis paniculata and its major compound andrographolide. Crit Rev Food Sci Nutr. 2019; 59: S17-S29. https://doi.org/10.1080/10408398.2018.1501657.
[3] Sa-Ngiamsuntorn K, Suksatu A, Pewkliang Y, Thongsri P, Kanjanasirirat P, Manopwisedjaroen S, et al. AntiSARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. J Nat Prod. 2021;84:1261-270. DOI:10.1021/acs.jnatprod.0c01324.
[4] Phumiamorn S, Sapsutthipas S, Pruksakorn P, Trisiriwanich S. In vitro study on antiviral activity of Andrographis paniculata against COVID-19. https://www3.dmsc.moph.go.th/en/. 2020 (accessed 13 June 2021).
[5] Wanaratana K, Leethong P, Inchai N, Chueawiang W, Sriraksa P, Tabmee A. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. 2021. (during submission for publication)
[6] Benjaponpitaka A, Sawaengthama T, Thaneerata T, et al. Effectiveness of Andrographis paniculata on prevention of COVID-19 progression in the early stages of illness: A retrospective cohort study. 2021. (during submission for publication)
[7] Zhang XY, Lv L, Zhou YL, et al. Efficacy and safety of Xiyanping injection in the treatment of COVID-19: A multicenter, prospective, open-label and randomized controlled trial. Phytother Res. 2021 May 12:10.1002/ptr.7141. doi: 10.1002/ptr.7141. Epub ahead of print. PMID: 33979464; PMCID: PMC8242486. (Xiyanping เป็นสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์จากฟ้าทะลายโจร)
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด