ข้อควรรู้สำหรับผู้ใช้ยา
ใช้ยาให้ปลอดภัย
- อ่านฉลากยาให้เข้าใจและหากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีใช้ยาต้องถามให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อน
- เมื่อไรก็ตามที่ได้รับการจ่ายยามา ลองหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้
2.1 ควรรู้ชื่อยา หากเป็นไปไม่ได้อย่างน้อยควรรู้ว่ามีข้อบ่งใช้หรือรักษาอะไร
2.2 มีข้อควรระวังในการใช้อย่างไรบ้าง
2.3 ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาใดบ้าง
2.4 ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใดบ้าง
2.5 มีวิธีใช้ยาอย่างไรและเวลาใดบ้าง
2.6 ต้องใช้เป็นระยะเวลานานเท่าใด หรือควรพบแพทย์อีกหรือไม่
- ทุกครั้งที่พบแพทย์หรือซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรได้ทราบว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
- ยาเกือบทุกชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียงที่นอกเหนือจากฤทธิ์สำคัญที่ต้องการ และอาจเกิดขึ้นกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากผู้ใช้ยามีปัญหาของฤทธิ์ข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- ผู้ใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าตนเองเคยมีอาการแพ้ยาชนิดใดบ้าง อาการแพ้ยาแสดงให้เห็นด้วยลักษณะต่างๆ เช่น เกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง ผื่นลมพิษ คันตามตัวหรือใบหน้า หน้าบวม หรือหายใจขัด เป็นต้น
- ไม่ควรนำยาของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ไปให้ผู้อื่นหรือแนะนำให้ซื้อใช้ชนิดเดียวกับตน ถึงแม้ว่าจะมีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน แต่อาจไม่ใช่โรคเดียวกันก็ได้
- การซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เช่น ยาหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บ ควรอ่านฉลากหรือถามผู้ขายถึงวิธีใช้ยาให้เข้าใจ เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าการใช้ยาไม่ถูกต้อง ทำให้โรคหรืออาการไม่หายได้
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ จำเป็นต้องระมัดระวังในการซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาได้
- ไม่ควรให้ยาแก่ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และการให้ยาเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงแก่เด็กที่มีอายุ 1-12 ปี ผู้ใช้ยาต้องรู้ขนาดใช้ยาที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก
- สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร ควรปรึกษาการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร
- ควรมีความรู้เกี่ยวกับการเก็บยาให้ถูกต้อง โดยทั่วไปยาที่ไม่ได้ระบุฉลากว่าต้องเก็บในตู้เย็นแล้ว ก็ควรเก็บไว้ในตู้เก็บยาที่ปิดมิดชิด ในสถานที่แห้งและเย็น ไม่มีแดดส่อง
- ตรวจตู้ยาเป็นระยะๆ เพื่อกำจัดยาที่ไม่ใช้หรือหมดอายุแล้ว
ใช้ยาให้ถูกต้อง
1. ใช้ยาให้ถูกวิธีหรือถูกทาง
- ยาเม็ดหรือแคปซูล วิธีใช้ยาที่ถูกต้อง คือกลืนยาทั้งเม็ดหรือแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยวยา ยกเว้นยาที่ระบุว่า”ควรเคี้ยวยาก่อนกลืน” เช่นยาลดกรด
- ยาน้ำสำหรับรับประทาน ก่อนรินยาต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้งเพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด และต้องใช้ช้อนตวงยา หรือหลอดยาที่ติดมากับขวดยา ห้ามใช้ช้อนกาแฟหรือช้อนรับประทานอาหาร เพราะทำให้มีขนาดยาไม่ถูกต้อง
- ยาผงสำหรับรับประทาน หากระบุให้ละลายน้ำก่อนรับประทานก็ต้องละลายก่อนรับประทาน ไม่ควรเทผงยาใส่ปากแล้วดื่มน้ำตาม หากเป็นผงยาโรยแผล เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้ผงยาปลิวเข้าปาก จมูก และตา
- ยาขี้ผึ้งหรือครีม เป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ทาบางๆวันละ 2-3 ครั้ง โดยไม่ต้องถูหรือนวด ยกเว้นเมื่อมีระบุไว้ในฉลากเท่านั้น
- ยาประเภทหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บ ควรอ่านฉลากแนะนำให้เข้าใจก่อนใช้
- ยาอม เป็นยาที่ต้องการให้ละลายในปาก ห้ามเคี้ยวหรือกลืนยาทั้งเม็ด
2. ใช้ยาให้ถูกขนาดและถูกเวลา
“ขนาดยา” คือจำนวนยาที่ให้เข้าไปในร่างกายเพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยทั่วไปขนาดยาที่ใช้ในแต่ละคนจะไม่เท่ากันซึ่งแตกต่างกันไปตามอายุ น้ำหนักร่างกาย และความรุนแรงของโรค ดังนั้นผู้ใช้ยาจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากเกี่ยวกับขนาดและระยะเวลาหรือช่วงห่างในการใช้ยาจึงจะทำให้ยานั้นๆได้ผลตามต้องการ ผู้ใช้ยาควรต้องทราบถึงความหมายของคำต่างๆที่พบเสมอในฉลากยา เช่น
- รับประทานก่อนอาหาร หมายความว่าก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดีในขณะท้องว่าง
- รับประทานหลังอาหาร หมายความว่าหลังอาหารอย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดีโดยมีอาหารช่วยในการดูดซึม
- รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ยามีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารจนถึงขั้นเป็นแผลทะลุได้ บ่อยครั้งที่ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานขณะท้องว่าง ดังนั้นจึงต้องมีอาหารหรือน้ำช่วยทำให้เจือจางลง ยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดข้อต่างๆ หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
- รับประทานก่อนนอน หมายความว่ารับประทานก่อนนอนตอนกลางคืนวันละ 1 ครั้งเท่านั้น
การใช้ยาอย่างปลอดภัย
เราจะใช้ยาได้อย่างปลอดภัยก็ต่อเมื่อรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยานั้น ๆ ให้มากที่สุด การรู้ว่ายาที่จะใช้คือยาอะไรและใช้เพื่ออะไรนั้น จะช่วยให้ใช้ยาได้เต็มประโยชน์ และลดโอกาสที่อาจเกิดอันตรายจากยาให้เหลือน้อยที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ก็อย่าลืมจดคำถามที่อยากรู้เอาไว้ถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับยามาด้วยทุกครั้ง หลักในการใช้ยาที่ถูกต้องคือ ควรปฏิบัติตามคำ แนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือคำแนะนำที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง โดยเฉพาะยาที่ซื้อกลับมาใช้เองที่บ้าน (ยาบาอย่าง เช่น ยาต้านมะเร็ง ต้องให้แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ฉีดให้เท่านั้น) ตัวอย่างเช่น
- ยาที่ระบุว่าให้กินพร้อมอาหาร ก็แสดงว่าเป็นยาที่มีผลระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ก็แสดงว่าเป็นยาที่ใช้เพื่อเสริมปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายในช่วงที่ตื่นนอนใหม่ ๆ
- ยาบางอย่างนั้นต้องกินตามช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น ทุก 4 หรือ 6 ชั่วโมง เนื่องจากมีฤทธิ์อยู่ได้ เพียงช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นหากลืมกินยามื้อใดมื้อหนึ่งไป ก็เท่ากับว่าร่างกายจะไม่ได้รับยาตามขนาดที่จะให้ผลได้ตามต้องการ
- เมื่อรับยามาทุกครั้งจึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า ยาที่ระบุไว้ว่าให้กินวันละ 4 ครั้งนั้น หมายถึง ต้องกินยาทุก 6 ชั่วโมงจริง ๆ (ตื่นขึ้นมากินตอนกลางคืนด้วย) หรือให้กินตามเวลาอาหาร คือ เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
การเรียกชื่อตัวยา
เมื่อจะใช้ยาอะไรก็ตาม เราต้องรู้จักชื่อสามัญของยานั้นด้วย ไม่ใช่รู้จักแต่เฉพาะชื่อการค้าเท่านั้น ชื่อสามัญของยาคือชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกตัวยา โดยตัวยาชนิดหนึ่งจะมีชื่อสามัญเพียงชื่อเดียว แต่อาจมีชื่อการค้าได้หลายชื่อ ตามแต่บริษัทผู้ผลิตยาจะตั้งไว้ เมื่อบริษัทยาค้นพบยาใหม่ๆ ตัวใดตัวหนึ่งก็จะตั้งชื่อการค้าและขายยาตามชื่อนั้นจนกระทั่งหมดสิทธิ์ (ส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์ยามีอายุประมาณ 20 ปี) หลังจากนั้นยาดังกล่าวก็จะถูกเรียกโดยชื่อสามัญ และบริษัทอื่น ๆ ก็สามารถผลิตออกมาขายได้ ประโยชน์ของการรู้จักชื่อสามัญของยานั้น นอกจากจะทำให้สามารถเลือกใช้ยาที่ถูกกว่า แต่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันแล้ว ยังช่วยป้องกันความสับสน และความซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในการใช้ยาได้ด้วย
การใช้ยา
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าเราต้องใช้ยาชนิดนั้น ๆ นานเท่าใด ยาบางอย่าง เช่นยาปฏิชีวนะนั้นจำเป็นต้องใช้ให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง แม้ว่าจะหายป่วยแล้วก็ตาม หรือการหยุดใช้ยาบางชนิดอย่างกะทันหันก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากอาการยังไม่ดีขึ้นและต้องการยาเพิ่มจึงควรไปพบแพทย์ก่อนที่ยาชุดเก่าจะหมด ยาบางอย่างแสดงฤทธิ์ได้เร็วมาก เช่น ยากลีเซอริลไตรไนเตรต ซึ่งเป็นยาแก้อาการปวดเค้นหัวใจเนื่องจากหัวใจขาดเลือดที่ออกฤทธิ์ได้เกือบทันที แต่ยาบางอ่างก็แสดงฤทธิ์ช้า ๆ และต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผล ดังนั้นจึงควรถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับเวลาในการออกฤทธิ์ของยา ก่อนที่จะหยุดยาเนื่องจากคิดว่ายานั้นใช้ไม่ได้ผล ยาทุกชนิดล้วนมีอาการข้างเคียง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยและจะสังเกตได้หรือไม่ก็ตาม โดยบางชนิดอาจแสดงผลอันไม่พึงประสงค์ทันที แต่ยาบางชนิดอาจแสดงผลอันไม่พึงประสงค์ทันที แต่ยาบางชนิดอาจแสดงผลหลังจากใช้ไปแล้วหลายวัน ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยา ต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรโดยเร็ว นอกจากนั้นการใช้ยาหลาย ๆ อย่างพร้อมกันก็อาจทำให้ยาเกิดปฏิกิริยาต่อกันได้ ไม่ว่าเป็นการเสริมฤทธิ์ ด้านฤทธิ์ หรือทำให้ยาอีกตัวไม่แสดงฤทธิ์ เป็นต้น จึงต้องบอกแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งหากกำลังใช้ยาตัวอื่นอยู่ด้วย
เรื่องที่ต้องถาม
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญที่ต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และต้องทำความเข้าใจกับคำตอบที่ได้ให้ชัดเจนก่อนจะรับยากลับบ้าน
- ชื่อสามัญและชื่อการค้าของยาชนิดนี้คืออะไร
- ยาชนิดนี้เป็นยาประเภทใดหรือกลุ่มใด เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไขมันในเลือด หรือยาลดความดันโลหิต
- ยาออกฤทธิ์อย่างไร
- ยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง
- ต้องกินยาวันละกี่ครั้ง กินอย่างไร (ก่อน หลัง หรือพร้อมอาหาร) และนานเท่าใด
- ระหว่างการใช้ยา ต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดหรือไม่
- จะทำอย่างไร ถ้าลืมกินยา
- จะรู้ได้อย่างไรว่ายาใช้ได้ผลแล้ว และสุดท้าย ต้องนึกไว้เสมอว่าโรคบางโรคนั้น อาจหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยและไปพบแพทย์ ก็อย่าคาดหวังว่าแพทย์ต้องจ่ายยาหรือฉีดยาให้เราทุกครั้ง เพราะวิถีแห่งเวชปฏิบัติที่ดีและควรจะเป็นก็คือ การรู้ว่าเมื่อใดบ้างที่ควรและไม่ควรใช้ยา
การใช้ยาปฏิชีวนะผิดวิธี
ยาปฏิชีวนะนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์สำหรับร่างกาย แต่ในบากรณีก็ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาปฏิชีวนะก็คือ เพื่อฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือเชื้อราหรือบัคเตรี แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับอาการไอหรือไข้หวัดซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส ทุกครั้งที่ใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้ให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง การหยุดาเอง เมื่อรู้สึกว่าอาการดีขึ้นจะทำให้เชื้อที่เหลืออยู่พัฒนาตัวเองจนดื้อยาและรักษายากขึ้น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อเป็น
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อบัคเตรี
- อาการปอดปวม
- วัณโรค
- สิวที่มีการอักเสบรุนแรง
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากเชื้อบัคเตรี
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ - ก่อนและหลังการผ่าตัดใหญ่
- โรคติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง และไม่ควรใช้เมื่อเป็น
- ไข้หวัด เจ็บคอ (ยกเว้นที่เกิดจากเชื้อบัคเตรี) หัด อีสุกอีใส คางทูม หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
- อาการท้องร่วงและอาเจียน ยกเว้นที่เกิดจากการติดเชื้อบัคเตรี
ยาบรรจุเสร็จ
ยาบรรจุเสร็จคือยาที่ใช้แก้อาการหรือบำบัดโรคที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก และสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบยาสั่งยาจากแพทย์ แม้ว่ายาบรรจุเสร็จมักมีฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่ายาที่แพทย์สั่งจ่าย แต่ก็ยังเป็นยาเช่นกัน จึงควรใช้เท่าที่จำเป็น และหากใช้เกิดขนาดก็อาจเป็นอันตรายได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ตับถูกทำลายอย่างรุนแรง นอกจากนั้นยังควรใช้อย่างระมัดระวังและอ่านฉลากยาให้ถ้วนถี่ก่อนใช้ โดยเฉพาะเรื่องขนาดสูงสุดที่ใช้ได้ รวมทั้งข้อห้ามใช้อื่นๆ
ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.วิภาวดี