การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นกลุ่มบริการทางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน(Competitive Advantage) สูงมาก เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่นอกจากจะทำให้เกิดความรื่นรมย์ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดีของผู้คนแล้ว ยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เชื่อมโยงสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ สร้างตัวคูณทางรายได้อย่างยั่งยืน รัฐจึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องให้ครบวงจรซึ่งบทเรียนจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนไปสู่ความเป็นวิถีใหม่ที่ต้องการการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) เพื่อความสุขสมบูรณ์ของชีวิต (Wellness) มากขึ้น จึงเป็นโอกาสของกลุ่มประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในการสร้างมาตรฐานใหม่ (Next Normal Standard) รวมถึงยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยด้านสุขภาพพร้อมรับกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง
และเพื่อให้พร้อมกับการต้อนรับการกลับมา ประเทศไทย จำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพจากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง
3 ปัจจัยสู่เทรนด์ Wellness Tourism 2565
TATAcademy อธิบายถึง 3 ปัจจัยสู่เทรนด์ Wellness Tourism และการประยุกต์ "ชูวัฒนธรรม นำสุขภาพดี" ภายใต้จุดแข็งด้านวัฒนธรรมไทย จะทำอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน
1.ความตระหนักในโรคระบาด (Post Pandemic)
โรคระบาดทำให้คนตระหนักเรื่องความเจ็บป่วย และมองว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว ดังนั้น โปรแกรมการท่องเที่ยวต้องตอบคำถามมิติทางสุขภาพได้ชัดเจน เช่น อาหารดีต่อสุขภาพอย่างไร กิจกรรมทำให้มีสุขภาพดีอย่างไร เป็นต้น ต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยเรื่องอาหารและบริการ จึงต้องยกระดับ เช่น สมุนไพรไทยสามารถสร้างจุดขายด้านอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
2. สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society)
สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นทำให้โลกกำลังกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวในไม่ช้า ทั้งนี้ สิ่งที่นักท่องเที่ยวสูงอายุมองหา ได้แก่ การชะลอวัย บริการทางการแพทย์เพื่อชีวิตที่ยืนยาว และการพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ อย่าลืมว่าบุคลิกของผู้สูงอายุมีความต้องการไม่เหมือนวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ผู้ประกอบการต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ วัฒนธรรมไทยที่สามารถนำมาประยุกต์เสริมบริการ เช่น สปา การออกกำลังกายเบา ๆ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนโบราณ หรือแม้แต่กิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น
3 ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มขึ้น
ตัวเลขของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ และโรคเครียด ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อการผ่อนคลายทางกายและเยียวยาความไม่สบายใจ วัฒนธรรมไทยที่สามารถประยุกต์เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนี้ จึงมีลักษณะเน้นการนำธรรมชาติมาบำบัด เช่น อาหารไทยพื้นบ้าน การนวดไทย สปาจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือมวยไทย เป็นต้น