ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหิดล เป็นหน่วยงานที่จับตาดูสถานการณ์การระบาดของโควิดในไทย จีนและทั่วโลก เปิดเผยสถิติสถานการณ์ระบาดของ
โควิด-19 ในจีนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 412,513 เสียชีวิต 5,245 และอาการทุเลา-หาย 355,177
ประเด็นที่ทั่วโลกและองค์การอนามัยโลก ให้ความสนใจ ก็คือข้อมูลสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กำลังระบาดในจีนขณะนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่า สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในจีน จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์จนอุบัติเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่
รายงานจากทางการจีน
"นพ. เสี่ยว เหวินโป (Xu Wenbo) " ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคไวรัสร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน (ไชน่า ซีดีซี) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาว่าทางการจีนได้มีการตรวจพบสายพันธุ์โควิด-19 ใหม่ในประเทศหรือไม่
คำตอบคือ ยังไม่พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน เนื่องจากโอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด ไม่พบสายพันธุ์ดั้งเดิมเดลตา รวมทั้งไม่พบสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างตระกูลเดลตาและโอมิครอน (เดลตาครอน) เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยโอมิครอน
นพ. เสี่ยว เหวินโป ให้รายละเอียดว่า “ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ย่อย 9 ชนิดที่แพร่กระจายในจีน ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนไม่ใช่เพียงโอมิครอน BF.7 ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
โดยตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 “ไชน่า ซีดีซี” ได้เสร็จสิ้นการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมทั้งหมด 1,142 ราย พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5.2 และ BF.7 เป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาด มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีโอมิครอนอีก 7 สายพันธุ์ย่อยระบาดหมุนเวียนในจีนควบคู่ไปด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ดร.ปันยาง (Pan Yang) นักวิจัยจากปักกิ่งซีดีซี รายงานว่าสายพันธุ์ย่อยของไวรัสที่แพร่กระจายในปักกิ่งคือสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BF.7 และ BA.5.2 ไม่พบ XBB, BQ.1 หรือสายพันธุ์อื่นๆ ในชุมชนปักกิ่ง และไม่พบสายพันธุ์ที่ไม่ใช่โอมิครอนเช่น สายพันธุ์ดั้งเดิม อัลฟา เบตา และเดลตา
ดร. หยาง เสี่ยวปิง (Yang Xiaobing) เจ้าหน้าที่จากอู่ฮั่นซีดีซี กล่าวว่าที่อู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ทางตอนกลางของจีน ได้ทำการสุ่มตัวอย่างและเฝ้าติดตามในโรงพยาบาลรักษาการณ์ 2 แห่งสัปดาห์ละครั้ง โดยเก็บตัวอย่างจากไม้กวาดคอ 40 รายในแต่ละครั้ง พบโอมิครอน BA.5.2 เป็นสายพันธุ์หลักที่หมุนเวียนในหวู่ฮั่น ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ไม่พบสายพันธุ์ประเภทอื่น
สำหรับคำถามของประชาชนว่าผู้คนจะติดเชื้อซ้ำหรือไม่ ดร. หวัง กุ้ยเฉียง ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จะมีแอนติบอดีภูมิคุ้มกัน (จากการฉีดวัคซีน) ที่มีประสิทธิภาพเป็นเวลาครึ่งปี และความน่าจะเป็นของการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์เดิมนั้นต่ำมาก แม้จะติดเชื้อก็จะไม่มีอาการรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อซ้ำอาจเกิดขึ้นได้หากไวรัสมีการกลายพันธุ์หรือมีสายพันธุ์ย่อยใหม่แสดงความสามารถในการหลบหนีของภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม ดังนั้น ดร. หวังจึงแนะนำให้ประชาชนยังคงระมัดระวังหลังจากเกิดการระบาดระลอกนี้ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรรับประทานยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุด หากติดเชื้อให้ได้ภายใน 5 วัน
ข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดในจีน
สำหรับข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก GISAID พบว่าในประเทศจีนโดยรวมพบสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสัดส่วนดังนี้
BN.1.3 (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75*) - 27%,
BQ1.1, BF.7, BF.5 (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.5*) - 13%
XBB.1, BQ.1.2 , BQ1.1.13, BQ.1, BN.1.1.1, and BA.5.2 - 7%
สำหรับประเทศไทยมีการระบาดของโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก
BN.1.3 (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75*) - 30%,
BN.1.2 (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75*) - 13%,
BA.5.2 -12%
BF.7 พบ 18 ราย (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.5*)
XBB พบ 24 ราย (สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครินสองสายพันธุ์)
XBB.1 พบ 23 ราย (สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครินสองสายพันธุ์)
CH.1.1 พบ 15 ราย (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75*)
BQ.1 พบ 2 ราย (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.5*)
BQ.1.1 พบ 3 ราย (สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มาจาก BA.5*)
ไวรัสโควิด 13 สายพันธุ์สำคัญที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีน
สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปิดเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดทั้งจีโนมบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” จำนวน "408 ตัวอย่าง" ที่ระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2565 พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ตามหลังประเทศอื่นเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย [
genomics]
ทำให้หลายประเทศเริ่มคลายกังวลเพราะพบว่าแต่ละประเทศมีไวรัสโควิดกลายพันธุ์ไปมากกว่าและมีภูมิคุ้มกันแบบผสมที่สูงกว่าจีน วัคซีนที่ฉีดป้องกันและยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาประชาชนยังครอบคลุมใช้ได้ดีหากมีไวรัสโควิดจากจีนหลุดเข้ามา
ข้อมูลจีโนมของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในจีนระลอกนี้ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ได้ถูกอัปโหลดแชร์บนฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” เป็นที่เรียบร้อยจำนวนทั้งสิ้น 408 ราย ซึ่งสายพันธุ์หลักอันดับหนึ่งและอันดับสองเป็นโอมิครอน “BA.5.2” และ “BF.7” ร้อยละ 25.8 และ 23.5 ตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์อุบัติใหม่ ส่วนอันดับ 3 จำนวนที่พบในจีนห่างจากอันดับ 1 และ 2 พอควรคือ BQ.1.22 ซึ่งอยู่ในกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ พบเพียงร้อยละ 3 จาก 408 ตัวอย่าง
โอมิครอน 13 สายพันธุ์สำคัญที่ระบาดหมุนเวียนในจีนขณะนี้คือ
BA.5 จำนวน 14 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 3.5
**BA.5.2 จำนวน 103 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 25.8**
BA.5.2.1 จำนวน 17 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 4.3
**BA.7 จำนวน 94 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 23.5 (หลานของ BA.5)**
BQ.1 จำนวน 18 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 4.5
BQ.1.1 จำนวน 16 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 4
BQ.1.22 จำนวน 20 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 5
BN.1.3 จำนวน 7 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 1.75
CH.1.1 จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 0.75
XBB จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 0.75
XBB.1 จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 0.75
XBB.1.5 จำนวน 3 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 0.75
XBC จำนวน 1 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 0.25
ฯลฯ
ศุนย์จีโนมฯได้วิเคราะห์โควิด-19 ทั้งจีโนมที่ไทยเราช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า
- BA.2.75 (สายพันธุ์หลักในไทย) มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ในพื้นที่ประเทศไทยสูงกว่าโอมิครอนอันดับหนึ่งที่พบระบาดในประเทศจีน-BA.5.2 ประมาณ 63% และ
- BA.2.75 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ในพื้นที่ประเทศไทยสูงกว่าโอมิครอนอันดับสองที่พบระบาดในประเทศจีน BF.7 ประมาณ 9%
ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ BQ, XBB (สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2 สองสายพันธุ์ย่อย), และ XBC (สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอน) หรือเดลตาครอน พบจำนวนไม่มากในระดับตัวเลขหลักหน่วยคาดว่าเป็นเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้นไม่ง่ายนักที่ BA.5.2 และ BF.7 สองสายพันธุ์หลักจากจีนจะเข้ามาระบาดและเพิ่มจำนวนแทนที่สายพันธุ์หลัก BA.2.75 ของประเทศไทยได้ในขณะนี้