ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ปานเทพตอบชูวิทย์ ประเด็นกัญชา

ปานเทพตอบชูวิทย์ ประเด็นกัญชา HealthServ.net
ปานเทพตอบชูวิทย์ ประเด็นกัญชา ThumbMobile HealthServ.net

“ปานเทพ” ตอบประเด็น กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ บทความต่อไปนี้ผมจะตอบในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรใดๆที่สังกัดอยู่นะครับและจะยืนยันเพื่อให้หายสงสัยด้วยว่า เบื้องหลังที่ผมมาเคลื่อนไหวเรื่องกัญชาอย่างเต็มที่เพราะอะไร


 
ประการแรก ผมเคลื่อนไหวการสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ (จากเดิมใช้ไม่ได้เลยแม้กระทั่งทางการแพทย์) และในปี 2561-2562 โดยได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติในรัฐบาล คสช.จนสำเร็จ
 
ผมมีประสบการณ์ตรงกับคุณพ่อของผมเองซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 ได้ใช้สารสกัดกัญชา ”อย่างผิดกฎหมาย” เพราะแพทย์ไม่ยอมจ่ายกัญชา และได้ใช้ตำรับยาไทยหลายตำรับร่วมกันไปกับการรักษาโดยไม่ได้มีคีโมบำบัดและฉายแสง ผลปรากฏว่าคุณพ่อผมไม่มีอาการเจ็บป่วยที่ต้องกลับไปเข้าโรงพยาบาลอีกเลยเป็นเวลา 7 ปี แต่คุณพ่อผมภายหลังการฉีดวัคซีนได้ล้มป่วยทันทีในวันรุ่งขึ้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยวัย 93 ปี


นอกจากนั้นผมยังได้มีอีกกรณีศึกษากับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถืออีกท่านหนึ่ง คือ อาจารย์จันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล ภรรยาคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และได้แอบใช้น้ำมันกัญชา “อย่างผิดกฎหมาย”ในการระงับอาการทุกข์ทรมานในโรงพยาบาลอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน แต่สิ่งที่ได้รับคือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีการเจ็บทรมานใดๆ และจากไปอย่างสงบเช่นกัน โดยที่หมอไม่ยอมรับและไม่จ่ายกัญชาในขณะนั้น
 
ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ท่านที่ผมมีประสบการณ์ตรงข้างต้น ไม่ได้มีอาการติดกัญชาเลย  แต่กัญชากลับทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอนได้ดีขึ้น ผมเห็นว่าผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการใช้กัญชาจำนวนมากไม่ควรเป็นอาชญากรผู้ผลิตและครอบครองยาเสพติด เพียงเพราะหมอไม่จ่ายกัญชาตามที่ผู้ป่วยร้องขอ ผมจึงมีแรงบันดาลใจว่าจะต้องหาทางปลดล็อกกัญชาเพื่อให้ “เกิดเสรีทางการแพทย์”ให้ได้
 
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ผมและคณะรวมตัวกันเรียกว่า เครือข่ายประชาสังคมกัญชาทางการแพทย์ ทำหนังสือเพื่อพบทุกพรรคการเมืองให้สนับสนุนกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ก่อนการเลือกตั้ง  มีพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่รับนัดแต่ก็ไม่มีการประกาศนโยบายหาเสียงใดๆ  แต่ปรากฏว่ามีพรรคภูมิใจไทยเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่ประกาศจะให้มีเสรีกัญชาทางการแพทย์
 
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของผมและคณะ จึงมาก่อนพรรคภูมิใจไทยจะเสนอนโยบายกัญชา จนถึงวันนี้ผมก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และไม่ได้เป็น ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยเลยด้วย

 
แม้วันนี้ผมอาจจะเข้าไปร่วมวิจัยกัญชาในสถาบันกัญชาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิต แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้ปลูกกัญชาเป็นการส่วนตัวแม้แต่ต้นเดียว ไม่ได้เปิดร้านขายกัญชา หรือไปขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นของตัวเองเลย
 
แต่ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ ก็เพราะมีผู้คนใช้กัญชาทางการแพทย์ “จำนวนมาก” ที่ใช้อย่างผิดกฎหมายแต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เสี่ยงทั้งข้อกฎหมาย และเสี่ยงทั้งสารปนเปื้อนและคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เสพติดกัญชา  และส่วนใหญ่ใช้กัญชาในข้อบ่งใช้ที่แพทย์ไม่จ่าย แต่กลับมีสุขภาพดีขึ้น และคนเหล่านี้ก็ไม่ควรเป็นถึงอาชญากรผู้ผลิต หรือครอบครองยาเสพติด

 

5 เหตุผลรองรับการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด


ความจริงแล้ว การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดมีเหตุผลในการรองรับ 5 ประการ

ประการแรก  กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ จากงานวิจัยพบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ โดยนับตั้งแต่สูบบุหรี่มวลแรกคนๆนั้นจะมีโอกาสติดบุหรี่สูงสุดร้อยละ 67.5 นับตั้งแต่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาสติดแอลกอฮอล์สูงสุดร้อยละ 22.7 แต่นับตั้งแต่สูบกัญชามวลแรกมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียงร้อยละ 8.9[1] แต่บุหรี่และเหล้าสามารถซื้อและขายได้แม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ 

ประการที่สอง กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์  โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ แพทยสภา ยอมรับว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรักษาได้หลายโรค[2]-[3]  ในขณะที่กัญชาเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยาแผนไทยของชาติมากถึง 162 ตำรับ ครอบคลุมการรักษาหลายอาการและหลายโรค[4] และยังมีการใช้กัญชาในรูปของน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน[5] ตลอดจนยังมีภูมิปัญญาการสูบเพื่อรักษาโรคอีกด้วย[6]-[8]

ประการที่สาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ต้องแอบลักลอบใช้เองอย่างผิดกฎหมาย 
 
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 (ช่วงที่กัญชายังเป็นยาเสพติดแต่ใช้ทางการแพทย์ได้) พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆนอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 แต่ผลการศึกษาพบว่าหลังใช้กัญชาโรคที่เป็นมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ 93[9]

ประการที่สี่  กัญชามีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้ถึงร้อยละ 58[9] ซึ่งแปลว่าน่าจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากยอดขายยาแผนปัจจุบันที่ตกลงด้วย
 
สอดคล้องกับวารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์  PLoSOne ได้เผยแพร่งานวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2562 พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”
 
โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย  และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า 16 มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆ ลดลงไปประมาณร้อยละ 11[10]
 
เช่นเดียวกับ วารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการ”เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8[11]
 
นอกจากนั้นการสำรวจทางระบาดวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น 2.4 เท่า  โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเป็นเบาหวาน ร้อยละ 8.7 ในขณะที่คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือน เป็น เบาหวาน ร้อยละ 4.2  และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไป เป็นเบาหวาน เพียงร้อยละ 3.2[12] 
 
กัญชายังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด โดยการวิจัยเรื่อง การใช้กัญชากับการโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ในประเทศอังกฤษ พบว่าคนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 4 แต่คนที่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงร้อยละ 2 หรือต่างกัน 2 เท่า, ในขณะที่คนที่ไม่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งไต ร้อยละ 0.16 คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 0.08 หรือต่างกัน 2 เท่า[13]
ประการที่ห้า กัญชาช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง หรือก่อปัญหาความรุนแรง (Harm Reduction)  เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ เหล้า ฯลฯ
 
กรณีศึกษา ของนายพงษ์พัฒน์ นามูลน้อย (ไก่ เดินวนฟาร์ม) จังหวัดขอนแก่น คือผู้ที่หายจากการติดยาบ้าด้วยการสูบกัญชา และต่อมาเลิกการใช้กัญชากลับมาเป็นพลเมืองดี และทำให้คนอื่นๆที่ติดยาบ้าสามารถเลิกยาบ้าด้วยการสูบกัญชาทดแทนยาบ้า  (ทดแทนหมายถึงไม่ได้ใช้ร่วมกัน) และสามารถเลิกได้ทั้งยาบ้าและกัญชาในที่สุด[14] 
 
สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ มีผู้ป่วยซึ่งเสพติด “ยาบ้า”ได้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งสิ้น 206,444 คน[15] 
 
แต่เมื่อกัญชามีการใช้กันอย่างกันอย่างกว้างขวางในปีงบประมาณ  2565 ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดยาบ้าที่ต้องได้รับการบำบัดลดลงเหลือเพียง 100,454 คน[15] ซึ่งแปลว่ามีผู้ป่วยยาบ้าที่เข้ารับการบำบัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 “ลดลง” จากปี พ.ศ. 2562 จำนวนมากถึง 105,990 คน[15] 
 
คือลดการบำบัดรักษายาบ้าไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ  51.34  และเป็นผลทำให้ยาบ้าราคาตกลงอย่างมากในปัจจุบันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน[16]
 
ปรากฏการณ์ที่กัญชามีบทบาทในการลดยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศที่ปลดล็อกกัญชามาก่อนประเทศไทย ดังปรากฏมาแล้วในงานวิจัยใน แคนนาดา[17],[18] การวิจัยในมลรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา[19] และในเนเธอร์แลนด์[20],[21] เป็นต้น
 
 
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงยอมมารับตำแหน่งในสถานการณ์ยากๆ อย่างโฆษกกัญชาทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และกรรมาธิการฯ ซึ่งมีแรงเสียดทานมากจากผู้ที่เข้าใจผิด หรือ อคติ ตลอดจนผู้ที่เสียผลประโยชน์ในหลายมิติ  เพราะรู้ว่าการตัดสินใจเช่นนี้ต้องชั่งน้ำหนักเลือกที่จะช่วยผู้ป่วยจำนวนมากไม่ให้ผิดกฎหมายในกฎหมายยาเสพติดกว่า 3.8 ล้านคน(ตามการสำรวจของนิด้าโพล) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ส่วนปัญหาอื่นๆเรายังใช้กฎหมายอย่างอื่นประยุกต์ใช้เพื่อการควบคุมได้ หากมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ความจริงแล้วคนที่ใช้กัญชาแบบชาวบ้านในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สูบ โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง 2564 พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้การรับประทานเป็นแคปซูล หยอดใต้ลิ้นมากกว่าร้อยละ 66.4  และยังใช้แบบต้มเป็นชาร้อยละ 23.7  ใช้พ่นทา/อาบน้ำ/นวดร้อยละ 11.6 และยังมีการใช้สูบร้อยละ 9.8


 
ความจริงแม้แต่การสูบที่ยังนับเป็นการใช้ทางการแพทย์ด้วย เพราะนอกจากการสูบจะเป็นกรรมวิธีการหนึ่งของการแพทย์แผนไทยตามกฎหมาย สำหรับคนบางกลุ่มที่ใช้กัญชาในรูปแบบนี้เพราะต้องการการออกฤทธิ์ที่เร็วกว่าการรับประทาน แต่ฤทธิ์อ่อนกว่าการรับประทาน (การรับประทานที่มีการย่อยมีฤทธิ์แรงกว่าการสูบ)  และในคนกลุ่มนี้ก็ใช้ก่อนนอนเพื่อทำให้นอนหลับได้  แม้จะมีมลพิษจากการสูบในระบบทางเดินหายใจแน่ๆ แต่ก็ไม่ควรลงโทษให้คนเหล่านี้เป็นผู้ครอบครองยาเสพติด (เพราะกัญชาก็ยังเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่อยู่ดี)ตราบใดถ้าไม่รบกวนหรือทำอันตรายต่อสังคม
 
และการใช้ในทางการแพทย์แม้ในช่วงที่เป็นยาเสพติด ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง 2564 ยังได้รายงานด้วยว่าในขณะที่กัญชาเป็นยาเสพติดมีผู้ลักลอบปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างผิดกฎหมายมากถึงร้อยละ 12  เมื่อนิด้าโพลซึ่งระบุว่ามีผู้เคยใช้กัญชาทางการแพทย์ประมาณ 3.8 ล้านคน แปลว่ามีผู้ที่ “ปลูกกัญชา” เพื่อทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายมีมากถึง 456,000 คน (ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นยาเสพติดต่อไป) 
และถ้าจะรอให้มีกฎหมายกัญชา กัญชงออกมาก่อน ผู้ป่วยจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้ก็ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับดำเนินคดียาเสพติดต่อไปจนถึงวันนี้ เพราะนักการเมืองเลือกที่จะเตะถ่วงกฎหมายกัญชา กัญชง เพื่อหวังว่าจะไม่ให้มีกฎหมายมาควบคุมอย่างเป็นระบบ


 
แม้วันนี้จะมีคนสูบกัญชาเพิ่มขึ้น และด้วยวิธีการสูบกัญชาจะมีสารคาร์บอนมอนนอกไซด์และน้ำมันดิน (ทาร์) มากกว่าบุหรี่ แต่ข้อจำกัดความถี่ในการสูบกัญชาต่อวันที่ทำให้หลับ กลับกลายเป็นว่าบุหรี่สูบได้ด้วยความถี่มากกว่าต่อวัน และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนิโคตินและยาสูบที่ชื่อว่า Nicotine and Tobaco Research เมื่อปี พ.ศ. 2565 พบว่าผู้ที่สูบกัญชามีพิษตกค้างในร่างกายน้อยกว่าบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ[22]
ในขณะที่บุหรี่และเหล้าได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 58 ปี พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[23] 
 
โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งไซนัส มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งกรวยไต มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่[23] และการเลิกบุหรี่จะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเหล่านี้ด้วย[23]
 


 
นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกัน ได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก[23]
 
ความน่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 58 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย
สำหรับกัญชาหากบริหารจัดการให้ดีโดยมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นระบบ จะมีบทบาทสำคัญต่อการลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะยาบ้า ยาไอซ์ แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาเสพติดที่รุนแรง ก่อความรุนแรง ทะเลาะวิวาท และอาชญากรรมต่อสังคม   การลดความรุนแรงเช่นนี้เรียกว่า Harm Reduction ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น
 

 
กรณีของบุหรี่ไฟฟ้าก็มีข้อได้เปรียบที่ลดมลพิษจากการเผาไหม้และมลพิษจากการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมไปอย่างมาก ลดความเสี่ยงไปหลายโรค ก็เป็น Harm Reduction อีกประเภทหนึ่งเช่นกัน 
 
แต่ข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าที่ต้องชั่งน้ำหนักด้วยเช่นกัน คือจะมีผู้สูบรายใหม่เพิ่มมากขึ้น (เพราะอันตรายน้อยลง) และอาจก่อผลเสียการเพิ่มจำนวนในบางโรคได้เช่นกัน เรื่องนี้จึงควรจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาในหลากหลายมิติเพื่อชั่งน้ำหนักว่าจะคุ้มค่าหรือไม่  ซึ่งในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยยังชั่งน้ำหนักแล้วไปในทิศทางที่เห็นว่า การเลิกบุหรี่ดีกว่าการส่งเสริมบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในความจริงบุหรี่ไฟฟ้ากลับเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะคนที่สูบบุหรี่ที่ต้องการลดความอันตรายต่อสุขภาพก็หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเป็นการทั่วไปแล้วในขณะนี้
 
แต่ถึงกระนั้น กรณีบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกับกัญชาได้  เพราะกัญชาเสพติดยากกว่าและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่ โดยเฉพาะกัญชาเป็นพืชที่ร่างกายมนุษย์มีสารและตัวรับเป็นระบบกัญชาในระบบสารสื่อประสาทและระบบภูมิคุ้มกันในแทบทุกอวัยวะมาตั้งแต่กำเนิดที่เรียกว่า Endocannabinoid System กัญชาจึงมีสรรพคุณต่างจากพืชอย่างอื่นที่ชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการใช้ด้วยข้อบ่งใช้ล้ำหน้าและหลากหลายไปมากกว่างานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันไปอย่างมากแล้ว
 

 
สำหรับในวันนี้ความจริง “กัญชาไม่ได้เสรี” เพราะมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงเกษตร ประกาศกระทรวงศึกษา เป็นกฎหมายมากกว่า 12 ฉบับ เช่น การจำหน่ายช่อดอกกัญชาต้องขออนุญาตจากกรมการแพทย์แผนไทยฯทุกกรณี,  มีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายให้เด็กเยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร, ห้ามโฆษณา, ห้ามขายในโรงเรียน, ห้ามขายในศาสนสถาน, ห้ามขายออนไลน์, ห้ามใส่ช่อดอกในอาหาร, ต้องแสดงป้ายร้านอาหารที่มีกัญชาในอาหารและแสดงในเมนูอาหาร, ห้ามนำเข้า  ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ และห้ามสูบในร้านจำหน่ายกัญชา ยกเว้นเป็นการสูบเพื่อทางการแพทย์โดยแพทย์ ฯลฯ นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา ต่างก็มีกฎหมายขององค์การอาหารและยาในการควบคุมปริมาณสารสำคัญในกัญชาให้มีความปลอดภัยแล้วอย่างแน่นอน
 
 
ในกฎหมายดังที่กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้มีบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับอยู่แล้วตามที่เขียนเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ตามที่อ้างอิงลำดับที่[23] ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ละเมิดกฎหมายอยู่จำนวนมาก
อย่างไรก็ตามประเทศไทย มีกฎหมายห้ามพนันออนไลน์​  ห้ามหวยใต้ดิน ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และกฎหมายที่ไม่ให้กัญชาเสรี แต่การที่ยังมีผู้ละเมิดกฎหมายจำนวนมากนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีกติกา หรือไม่มีกฎหมาย แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่บังคับกฎหมายอย่างจริงจังเท่านั้น  
ดังนั้นผมก็ยังติดตาม เห็นด้วย ชื่นชมและสนับสนุนกับการเปิดโปงเพื่อต่อต้านส่วยตำรวจของคุณชูวิทย์อย่างกล้าหาญมาโดยตลอด แต่ขออนุญาตแสดงความเห็นแย้งและไม่เห็นด้วยในเรื่องกัญชาของคุณชูวิทย์มาในโอกาสนี้
 
ขอแสดงความนับถือ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
26 กุมภาพันธ์ 2566
 
อ้างอิง
[1] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/
[2] คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ แพทยสภา, คำแนะนำสำหรับแพทย์ การใช้กัญชาทางการแพทย์, ฉบับที่ 1, ตุลาคม 2562
https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf
[3] Tom P Freeman, Medicinal use of cannabis based products and cannabinoids, BMJ 2019; Published 04 April 2019),  doi: https://doi.org/10.1136/bmj.l1141
https://www.bmj.com/content/365/bmj.l1141
[4] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าต้วยากัญชา, 2564, 454 หน้า, ISBN 978-616-11-4755-6
https://www.dtam.moph.go.th/.../ptmk/ptmk-ganja/index.html
[5] จักราวุธ เผือกคง, กัญชาทางการแพทย์แผนไทย, 
http://164.115.41.179/tm/sites/default/files/6.%20หลักการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย.pdf
[6] พระยาทิพจักษุสาตร์ (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ประจำบ้าน, พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ. 2458 หน้า 172
[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธกีารแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัตวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556, วันที่  15 กรกฎาคม  2563, เล่ม 137 ตอนพิเศษ 162 ง, หน้า 27, ท้ายประกาศหน้า 12 และ 19 จาก 42 หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2563/E/162/T_0027.PDF
[8] ธเนศพล พันธ์เพ็ง, สุกก์สลิล บูรณะทรัพย์ขจร, สุวีรวรรณ ลิ้มสุวรรณ, การปรุงยาสมุนไพร ตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย 28 วิธี, สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2564-กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2564,  268 หน้า ISBN: 978-616-8201-17-6, (กรรมวิธีที่ 23 ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่ โดย อรอุษา ธรรมเสริมสร้าง, หน้า 163-169
[9] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565
[10] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable
[11] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519
[12] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494.  doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494. 
[13] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633. 
[14] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดอก “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย ๓๓ ปีเลิกยาบ้าได้เด็ดขาดเพราะกัญชา, Todayline, 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, เวลา 14.06 น.
https://today.line.me/th/v2/article/mW30nJW
[15] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, 27 ธันวาคม 2565
[16] เดลินิวส์ออนไลน์, ป.ป.ส. เฉลยสาเหตุทำไม ‘ยาบ้า’ ราคาถูก พบลักลอบผ่านบริษัทขนส่งปรับ ๕ หมื่น, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕
https://www.dailynews.co.th/news/1684530/
[17] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018),  American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/.../AJPH.2021.306168...
[18] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229
[19] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/.../2021-SB13-283_Rpt.pdf
[20] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295
[21] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ!?, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15   ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
 https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568
[22] Ellen Meier, et al., Cigarette Smokers Versus Cannabis Smokers Versus Co-users of Cigarettes and Cannabis: A Pilot Study Examining Exposure to Toxicants Get access 
https://academic.oup.com/.../article.../24/1/125/6297574...
[23] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019.  
https://monographs.iarc.who.int/.../OrganSitePoster...
https://monographs.iarc.who.int/monographs-available/
[24] ผู้จัดการออนไลน์, “ปานเทพ” เปิดกฎหมาย 12 ฉบับ ยัน “กัญชาไม่ได้เสรี”, เผยแพร่: 24 ก.พ. 2566 13:49   ปรับปรุง: 24 ก.พ. 2566 13:49
https://mgronline.com/politics/detail/9660000018017
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด