ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

Festival Economy ขับเคลื่อนอย่างไรให้ปัง - สภาพัฒน์

Festival Economy ขับเคลื่อนอย่างไรให้ปัง - สภาพัฒน์ Thumb HealthServ.net
Festival Economy ขับเคลื่อนอย่างไรให้ปัง - สภาพัฒน์ ThumbMobile HealthServ.net

การจัดเทศกาลถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มี ความพยายามผลักดันและยกระดับเทศกาลมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดและปัญหาที่ต้องแก้ไข ดังนั้น การนำบทเรียนของเทศกาลในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางและปรับใช้ให้เหมาะสม กับบริบทของประเทศจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เทศกาลของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


         เทศกาล (Festival) คือ ช่วงเวลาหนึ่งที่กลุ่มคนหรือชุมชนจะใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง หรือทำกิจกรรมเป็นพิเศษร่วมกัน มักเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม มีการบูรณาการการทำงาน แสดงความคิด ออกมาเป็นรูปธรรม และเผยถึงตัวตนของพื้นที่นั้น ๆ  ซึ่งในปัจจุบันเมื่อกระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มหันมา ให้ความสนใจกับไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เทศกาลมีการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและ เกิดงานเทศกาลหลากหลายรูปแบบ เช่น เทศกาลอาหารจากพืช (Plant-based) จากเทรนด์การบริโภคที่ค านึงถึง ความยั่งยืน หรือเทศกาลดนตรี โดยปัจจุบันแม้ว่าจะไม่มีการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว เชิงเทศกาลโดยตรง แต่จากรายงาน Event Tourism Market Outlook from 2024 to 2034 ที่คาดการมูลค่า การตลาดของการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ซึ่งเทศกาลเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวดังกล่าว พบว่า ในปี 2567 จะมี มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 2.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2577 หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี

        นอกจากนี้ เทศกาลยังสร้างประโยชน์ในด้านอื่น ทั้งการสร้างรายได้ ให้กับคนและผู้ประกอบการในพื้นที่จัดงาน การเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น และการทำให้ผู้เข้าร่วมมีแนวโน้มที่จะมี ความสุขมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่จัดงาน ซึ่งจากประโยชน์ดังกล่าว ทำให้หลายประเทศใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการวางแผนสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางของการจัดเทศกาล และมีการดึงศิลปิน นักร้องระดับโลก มาแสดง ในประเทศ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ที่มีการดำเนินการยกระดับเทศกาลหนังปูซานจนเมืองปูซานกลายเป็น เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม

 

           สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเทศกาล ภายใต้การส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นหน่วยงานหลัก ในการให้การสนับสนุนการจัดงานเทศกาล ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนกว่า 100 งาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งการขับเคลื่อนเทศกาลที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลลอยกระทงของจังหวัดสุโขทัย ที่ TCEB ร่วมกับจังหวัดสุโขทัยส่งงานลอยกระทงเข้าร่วมการประกวดรางวัล งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ในปี 2566 จนได้รับรางวัล Gold Prize จากสมาคมการจัดงานอีเวนท์ และเทศกาลนานาชาติ (International Festival & Event Association (IFEA) ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งในปี 2567 มีการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2567 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน จำนวนเกือบ 2 ล้านคน และสร้างรายได้สูงถึง 90,028 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม จากรายงานผลการสำรวจ เรื่อง เทศกาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Festivals in Sount East Asia: Catalysts for the Creative Economy) ของ British Council Indonesia ยังพบว่า ประเทศไทย มีการจัดเทศกาลขนาดใหญ่ไม่มากนัก เนื่องจากข้อจ ากัดด้านงบประมาณและความสนใจของประชาชน โดยเงินทุน ในการจัดเทศกาลส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน อีกทั้ง ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับท้องถิ่น ภูมิภาค และ ระดับประเทศค่อนข้างน้อย หรือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 52 ทำให้เทศกาลส่วนใหญ่มีผู้เข้าร่วมน้อย โดยร้อยละ 48 ของเทศกาลมีผู้ชมต่ำกว่า 5,000 คน

           นอกจากนี้ การจัดเทศกาลที่ผ่านมายังมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้น อาทิ การจราจรติดขัดและเกิดคอขวดบริเวณทางเข้างาน ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น จุดบริการต่าง ๆ ไม่เพียงพอ การก่ออาชญากรรมหรือคุกคามทางเพศ และความคลาดเคลื่อนในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งยังอาจสร้างผลกระทบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในภายหลัง เช่น ปัญหาขยะและของเสีย34 ซึ่งหากไทยสามารถแก้ประเด็นปัญหาเหล่านี้ได้ จะส่งผลให้งานเทศกาลต่าง ๆ ของไทยมีศักยภาพโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการจัดเทศกาลระดับโลกมีบทเรียน ในการจัดงานและตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การสร้างจุดขายของเทศกาลที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นหรือที่อื่น

         การสร้างจุดขายของเทศกาลที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นหรือที่อื่น ในบางประเทศอาศัย การดึงจุดแข็งของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดขาย เช่น เทศกาลริโอ คาร์นิวัล (Rio Carnival) ของประเทศบราซิล ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ทั่วไป แต่มีการนำการเต้นแซมบ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวลาตินอเมริกา มาผสมผสาน ทำให้มีเสน่ห์และโดดเด่นกว่าเทศกาลคาร์นิวัล ที่จัดขึ้นในประเทศอื่น นอกจากนี้ องค์ประกอบอื่น ๆ ของงานที่จัด อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งขบวนพาเหรด การแต่งกายสีฉูดฉาด ยังเป็นปัจจัย ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจนได้รับการประกาศโดย Guinness Book World Records 2010 ว่าเป็นปาร์ตี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่นเดียวกับ เทศกาลสาดสี (Holi Festival) หนึ่งในงานเฉลิมฉลองที่ทั่วโลกรับรู้มากที่สุดของประเทศอินเดีย มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดู โดยเชื่อว่าการสาดสีเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

          อย่างไรก็ตาม เทศกาล ที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ได้พึ่งพาศักยภาพของวัฒนธรรมหรือประเพณีดั้งเดิมแต่เป็นการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ หรือต่อยอดจากบางสิ่งบางอย่าง อาทิ เทศกาลปามะเขือเทศ (La Tomatina) ในประเทศสเปน ที่จัดขึ้นทุกปี เฉพาะที่เมืองบูโญลเมืองเดียวเท่านั้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเหตุทะเลาะวิวาทภายในงานเดินขบวนพาเหรดเมื่อปี ค.ศ. 1945 ที่มีการใช้มะเขือเทศปาใส่กัน จนเหตุดังกล่าวกลายมาเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกที่ได้รับความนิยมจากคนในท้องถิ่น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2002 เทศกาลนี้ถูกประกาศให้เป็นเทศกาลสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่าสองหมื่นคนให้เข้าร่วม จึงนับเป็นเทศกาลที่มีเอกลักษณ์ความเฉพาะตัว

           นอกจากนี้ เทศกาลอีกหนึ่งรูปแบบที่เป็นที่นิยมอย่างมาก คือ เทศกาลดนตรี ซึ่งมีรูปแบบการจัดงาน ที่แตกต่างกันไปเพื่อตอบสนองต่อคนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ เทศกาลดนตรี Tomorrowland ของประเทศเบลเยียม เป็นเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ (EDM) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจุดเด่นด้านการออกแบบเวทีที่อลังการ และธีมงานที่สร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละปี รวมถึงยังรวบรวมศิลปิน ดีเจ ดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก

2. การยกระดับระบบความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ร่วมงาน

         โดยประเทศบราซิล ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง โดยในช่วง เทศกาลริโอคาร์นิวัล ได้มีการบังคับใช้ กฎหมาย “No Is No” เพื่อเป็นมาตรการในการปกป้องและดูแลความปลอดภัยสตรีในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจะประสานความร่วมมือสถานประกอบการท่องเที่ยว ตั้งแต่ที่พักไปจนถึงร้านอาหาร ไนต์คลับ และบริการขนส่ง ในการป้องกันอันตรายและคุ้มครองผู้หญิงในสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมี ศูนย์ปฏิบัติการริโอ (COR) ซึ่งเป็นห้องสังเกตการณ์พร้อมเจ้าหน้าที่ 60 คนต่อกะ และมีโดรนส่งภาพขบวนพาเหรด ในตัวเมืองริโอเพื่อรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุม อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจให้ประจำการอยู่ทุกแห่ง เช่นเดียวกับ เทศกาลปามะเขือเทศ ที่ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่มีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ของเมือง จึงออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมและเตรียมพร้อมด้าน ความปลอดภัยและเหตุฉุกเฉิน โดยมีการจำหน่ายตั๋วเข้าร่วมที่มีจำนวนจำกัด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั่วบริเวณงานและมีรถพยาบาลประจำอยู่แต่ละจุด ตลอดจน มีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด นอกจากนี้ บางประเทศได้มีการนำเทคโนโลยี ในการจัดงาน (Event Technology) มาใช้ โดยสหรัฐอเมริกา ได้มีการติดตั้ง OPENGATE เทคโนโลยีตรวจจับอาวุธขั้นสูง ในเทศกาลดนตรีฮิปฮอประดับโลกอย่าง Rolling Loud ที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน ซึ่งช่วยกระชับเวลาและขั้นตอน การคัดกรองของเจ้าหน้าที่ได้ถึงร้อยละ 64

3. การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน

          หนึ่งในปัญหาที่พบอยู่บ่อยครั้งของการจัดงานเทศกาล คือ การจราจรที่หนาแน่นและติดขัด ขณะที่การมีระบบคมนาคมที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกับงานเทศกาลนั้นๆ โดยประเทศเบลเยียมได้มีมาตรการรองรับสำหรับเทศกาลดนตรี Tomorrowland ที่มีการเชื่อมโยงระบบขนส่ง โดยจัดให้มีบริการรถรับส่งจากสนามบินบรัสเซลส์ (สนามบินใกล้สุดของงาน) ไปยังที่จุดจัดงานโดยตรงซึ่งจะเปิดให้จองล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ของงาน ขณะเดียวกัน ยังจัดให้มีรถไฟสายพิเศษไปยังสถานที่จัดงานเทศกาล เพิ่มเติมจากระบบปกติ อีกทั้ง ยังมีที่จอดรถรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังได้ประสานความร่วมมือกับผู้สนับสนุน (Sponser) อย่างสายการบินบรัสเซลส์ แอร์ไลน์ ในการออกแพ็กเกจทริป “Tomorrowland’s Global Journey” ที่ประกอบด้วยตั๋วเข้าร่วมงาน ตั๋วเครื่องบิน พร้อมโรงแรมที่พัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมงาน  อีกทั้งภายในงานยังมีเต็นท์ไว้คอยให้บริการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พักให้ผู้เข้าร่วมงาน ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ได้จัดให้มีบริการ เช่าล็อกเกอร์สำหรับเก็บสัมภาระ ห้องน้ำ สถานีชาร์จโทรศัพท์ รวมถึงมีจุด Info point เพื่อให้บริการด้านข้อมูล ซึ่งมีป้ายบอกทางที่ชัดเจน อีกทั้ง ยังมีแผนที่แบบโต้ตอบได้ ให้บริการผ่านแอป  Tomorrowland ทั้งนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในงานยังออกแบบ โดยคำนึงถึงผู้เข้าร่วมที่มีความพิการ อาทิ ทางเข้าที่มีลิฟต์ ห้องน้ำที่ออกแบบโดยเฉพาะ อีกทั้ง ยังอนุญาตให้นำสุนัขนำทางเข้ามาในบริเวณงานได้ และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในการเข้าถึงบริเวณต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี Tomorrowland bracelet ซึ่งเป็นสายรัดข้อมือ ที่ไม่เพียงเป็นเสมือนตั๋วเข้าร่วมงานเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางชำระเงินบริการต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมสามารถ เติมเงินเข้าไปได้ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานไม่จำเป็นต้องพกเงินสด

4. การประชาสัมพันธ์งานเทศกาลและมีมาตรการส่งเสริมการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

       ซึ่งประเทศสกอตแลนด์มีการวางกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ Edinburgh Festival Fringe หรือเทศกาลศิลปะกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีการจัดทำข้อมูลเพื่อวางแผนและจัดลำดับการประชาสัมพันธ์ โดยใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่า MOSAIC39 ในการรวบรวมและจัดกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงลึกอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายอาศัยอยู่ที่ไหน มีสัดส่วนเท่าไหร่ มีพฤติกรรมการจับจ่าย หรือมีกิจกรรมวันหยุดเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้สามารถเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกำหนดทิศทางการทำการตลาด รวมถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสารออกไปให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ผ่านแฮชแท็ก # EdinburghFestival #Fringe ที่ใช้ร่วมกันในทุกแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรศิลปะ บริษัทเอกชน และหน่วยงานท่องถิ่นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง Influencer ในการประชาสัมพันธ์และสร้างคอนเทนต์ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานเทศกาล อีกทั้งยังมีการใช้ Google analytics เพื่อประเมินผลการประชาสัมพันธ์และสำรวจ ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเพื่อนำมาปรับปรุงการจัดเทศกาลต่อไป  

5. การสนับสนุนจากภาครัฐและการบูรณาการความร่วมมือกับเอกชนและหน่วยงานท้องถิ่น

         ในการจัดงานเทศกาลจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ ซึ่งจะต้องกระจายบทบาทหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม สำหรับการจัดงานเทศกาลริโอคาร์นิวัล มีการสร้าง ความร่วมมือและดำเนินการจัดงานไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ โดยเทศบาลนครริโอเดจาเนโร มีบทบาทหลัก ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดงาน ทั้งด้านการจราจรและด้านความปลอดภัย ขณะที่ภาคเอกชน จะเข้ามาร่วมในฐานะสปอนเซอร์ที่เน้นให้การสนับสนุนด้านการเงิน การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการตลาด ส่วนภาคประชาชนถือเป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายในงานที่สำคัญ โดยดำเนินการผ่านสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมโรงเรียนแซมบ้าอิสระ (LIESA) สมาคมนักดนตรี สมาคมนักออกแบบ และสมาคมผู้ผลิตเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของริโอคาร์นิวัล สำหรับเทศกาลโคลน ของประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากโคลน โดยให้มีการศึกษาความปลอดภัย และสรรพคุณของโคลน Boryeong รวมถึงวิจัยส่วนประกอบเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อีกทั้งภาคการศึกษายังมีส่วนร่วมในการปรับแผนพัฒนาเชิงวัฒนธรรมให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ มีการจัดกิจกรรม นันทนาการ เช่น การเล่นโคลน การแข่งขันกีฬาในโคลน การเพ้นท์โคลน จนเทศกาลมีชื่อเสียงและได้รับความนิยม จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

6. การจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดเทศกาล

          การจัดงานเทศกาลมักมีผู้เข้าร่วม จำนวนมากและจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก จึงหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ยาก ซึ่งเทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลก Coachella ที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามในการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานลดปริมาณขยะ เนื่องจากในแต่ละปีมีขยะเกิดขึ้นในปริมาณมาก ซึ่งปี 2564 มีขยะมากถึง 1,600 ตัน ขณะที่มีขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดยผู้จัดงานได้มีมาตรการสนับสนุนการรีไซเคิลขวดน้ำ โดยให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำขวดน้ำพลาสติกเปล่ามาแลกขวดน้ำ รวมถึงมีสิทธิ์แลกรับบัตรชิงช้าสวรรค์ เสื้อยืด โปสเตอร์ และของที่ระลึกอื่น ๆ

            นอกจากนี้ ในบางเทศกาลดนตรี ยังมีการปรับตัวโดยจัดงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ งานคอนเสิร์ต Music Of The Spheres World Tour ของวง Coldplay ได้ร่วมมือกับ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) พัฒนาแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้เพื่อใช้จัดแสดง รวมถึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พื้นพลังงานจลน์ (kinetic floors) และโซนปั่นจักรยาน เพื่อกักเก็บพลังงานจากการเคลื่อนไหวของผู้ชมไว้แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อ ใช้ในการจัดงานครั้งต่อไป อีกทั้งยังมีการผลิตสายรัดข้อมือเรืองแสง แบบใช้ซ้ า โดยทำจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้มาก

            โดย Tyndall Center for Climate Change Research ปี 2564 พบว่า การจัดคอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักร ในระยะเวลา 1 ปี จะสร้างก๊าซเรือนกระจกประมาณ 405,000 ตัน จากข้อค้นพบที่ได้จากศึกษาการจัดงานเทศกาลจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จข้างต้น ถือเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหา ลดข้อจำกัด ตลอดจนการปรับปรุงแนวทางการขับเคลื่อน Festival Economy ของไทยที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่โดดเด่นในการจัดงานเทศกาลระดับโลกในระยะถัดไป ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการผลักดันการจัดงานเทศกาล โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในมิติต่างๆ การบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการพัฒนาการจัดงานให้สอดรับกับเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้การจัดงานเทศกาลของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และได้รับความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด