Smart hospital คืออะไร ผมว่าหลายๆคนก็ยังไม่เข้าใจ กระทรวงเองก็ยังไม่มีนิยามชัดเจน มีอยู่ครั้งนึงกระทรวงนัดประชุมเรื่อง smart hospital 1 วันเต็มๆ ยังไม่ได้นิยามคำว่า smart hospital เลย หลายๆโรงพยาบาลสับสน จนกระทั่งพัฒนาแบบหลงทางไปเลยก็มี
[
นิยาม smart hospital ของสธ.]
ช่วงเวลานี้มักมีคำว่า smart มาใช้หลายๆ อย่างเช่น smart phone , smart card , smart tv , smart watch และอื่นๆอีกมากมาย คำว่า smart มันคืออะไรบางอย่างที่ขยายความจากสิ่งๆ นั้น สิ่งๆ นั้นมีคุณสมบัติมากกว่าเดิม ดีกว่าเดิม ฉลาดกว่าเดิม ประมาณนั้น แต่เมื่อรวมกับคำว่า hospital เลยงงไปใหญ่ว่าโรงพยาบาลจะมีคุณสมบัติที่มากกว่าเดิมอย่างไร โรงพยาบาลจะดีกว่าเดิมอย่างไร และโรงพยาบาลจะฉลาดกว่าเดิมอย่างไร
คำนิยามคำว่า smart hospital สำหรับผมคือ โรงพยาบาลที่มีบริการที่ดี คุณภาพมาตรฐาน รวดเร็ว มีการเงินที่มั่นคง สวย สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ
เลยเอาตัวอักษร “SMART”มาอธิบายรายละเอียดเพื่อให้จดจำได้ง่ายๆ ดังนี้
S : service ต้องมีservice หรือบริการที่ดี ทั้งในส่วนของ medical service และhotel service โรงพยาบาลจะให้บริการแบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว ต้องลบภาพโรงพยาบาลรัฐบาลทิ้งไป ต้องให้บริการเทียบเคียงเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนไข้ใหม่ ไม่ใช่ว่าเราจะจัดบริการแบบไหนก็ได้ คนไข้ต้องง้อต้องทำตามระบบเดิมๆของเรา มุมมองต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่อนาถา โรงพยาบาลสามารถให้บริการที่ดีกว่าเดิมถึงจะsmart
M : money การบริหารการเงินการคลังต้องดีเยี่ยม ไม่เกิดวิกฤติการเงิน ไม่ค้างค่ายา ค่าตอบแทน มีรายได้เพิ่ม มีกำไรที่จะพัฒนาโรงพยาบาลให้ดียิ่งๆขึ้นไป การเอาเทคโนโลยีมาใช้แบบไม่ถูกต้อง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้โรงพยาบาล ถ้ารายรับไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องได้ และถ้าจะให้ดี เมื่อเอาเทคโนโลยีมาใช้แล้วสามารถทำให้การเงินการคลังดีขึ้นoutcomeดี แบบนี้ถึงsmart
A : architecture สถาปัตยกรรม ต้องสวย สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ข้อนี้จำเป็นมากๆ แต่มักโดนละเลย เรามักให้ความสำคัญเรื่องinterior design เป็นอันดับสุดท้าย และเป็นงบแรกที่จะโดนตัด แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้แหละที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น คนไข้เข้ามารับบริการก็รู้สึกผ่อนคลาย มีความน่าเชื่อถือของสถานที่ ผมพบว่าพฤติกรรมของผู้ให้และผู้รับบริการเปลี่ยนไปเนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โรงพยาบาลไหนยังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ก็ยังไม่smartอยู่ดี
R : rapid บริการรวดเร็ว โรงพยาบาลรัฐบาลรอคิว3-4ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ?? ผมว่าไม่ปกติ มันเป็น pain point ของผู้มารับบริการเลยละ โรงพยาบาลต้องหาวิธีจัดการเรื่องเวลาให้ได้ ลดระยะเวลารอคอยแบบที่ผู้มารับบริการรู้สึกได้ พึงพอใจขึ้น เทคโนโลยีเอามาใช้เรื่องคิวได้บ้าง แต่ควรดูเวลารอคอยโดยรวมตั้งแต่เดินเข้าโรงพยาบาลจนกระทั่งกลับบ้าน บางทีเอาเทคโนโลยีมาใช้แต่เวลารอคอยรวมกลับไม่ลดลงเลย ถ้าเป็นแบบนี้โรงพยาบาลควรกลับไปทบทวนระบบว่ามีคอขวดที่ไหน และจัดการ หรือรื้อระบบเดิมๆออกให้หมด จัดการวาง flow ใหม่ สำหรับผมเองวิธีไหนก็ได้ที่ทำให้เวลารอคอยลดลงอย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แบบนี้ก็เรียก smart
T : technology แน่นอนsmartต้องมีเทคโนโลยี ที่ดี ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาล มาแล้วทำให้การทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ให้และผู้รับบริการ เทคโนโลยีต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และต้องบริหารเก่งจริงๆถึงจะเอาเทคโนโลยีมาลดต้นทุนของการให้บริการได้ เอาเทคโนโลยีมาใช้แล้วเกิด outcome ที่ดี เห็นเป็นรูปธรรม สำคัญคือ outcome ถ้าoutcome ดีก็ smart ถ้ายังไม่เกิดoutcomeที่ดีก็ยังไม่ใช่ smart hospital
ผมคิดว่าโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงคำว่า smart hospital มากที่สุดแล้ว. แล้วโรงพยาบาลของท่านละ พร้อมจะเป็น smart hospital แล้วหรือยัง
นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย
นิยาม Smart Hospital กระทรวงสาธารณสุข
Smart Hospital หมายถึง โรงพยาบาลภาครัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการจัดบริการภายในโรงพยาบาล ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัย และทันสมัยอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1) Smart Place/Infrastructure
โรงพยาบาลมีการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ผ่านเกณฑ์การดำเนินงาน GREEN&CLEAN Hospital ของกรมอนามัย และจัดตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม ดูมีความทันสมัย (Digital Look) ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ
2) Smart Tools
โรงพยาบาลมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้มีความถูกต้องแม่นยำ สะดวกรวดเร็ว ลดความเสี่ยงความผิดพลาดต่างๆ ลดระยะเวลา เพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มความพึงพอใจของผู้รับบริการ อาทิ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อัตโนมัติ ระบบบริหารจัดการคิว รูปแบบดิจิทัล รูปแบบออนไลน์
3) Smart Services
โรงพยาบาลมีการบริหารจัดการกระบวนงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาองค์กรตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย และ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เช่น การยกเลิกการเรียกรับสำเนาบัตรประชาชนและเอกสารอื่นที่ออกโดยราชการจากผู้รับบริการ การจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EMR : Electronic Medical Records) การใช้ใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การลดระยะเวลารอคอยรับบริการ การมีบริการนัดหมายแบบเหลื่อมเวลา หรือมีการจัดกลุ่มผู้รับบริการ ได้รับบริการตรงเวลาหรือแตกต่างเล็กน้อยอย่างเหมาะสม เป็นต้น
4) Smart Outcome
โรงพยาบาลมีการบริหารจัดระบบงานให้มีความเชื่อมโยงกันได้อย่างอัตโนมัติ โดยนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาใช้ โดยเฉพาะระบบหลักของโรงพยาบาล (Core Business Process) เพื่อให้มีระบบสารสนเทศที่ตอบสนองต่อการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินการบัญชี การจัดซื้อจัดจ้าง ป้องกันปัญหาการขาดแคลนและความไม่สมดุลด้านทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรในระบบบริการ มีการบริหารจัดการ Unit Cost ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพื่อเพิ่มคุณภาพระบบบริการ จัดการระยะเวลารอคอยได้อย่างเหมาะสม
5) Smart Hospital
โรงพยาบาลมีประสิทธิภาพในการจัดการ มี Unit Cost ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสามารถเปรียบเทียบ (Benchmarking) กับหน่วยงานอื่นได้ มีการจัดการและป้องกันความเสี่ยง (Proactive Risk Management) ที่ดีในทุกมิติ เพื่อให้การบริการมีคุณภาพดีในทุกมิติ และมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงาน อย่างยั่งยืน