กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) โดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ผลักดันพืช 3ก. หนุนคนตัวเล็กยกระดับผลิตภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน OTOP ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจกัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพร
จัดงาน “สรุปผลสำเร็จและพิธีปิดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย” ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร กรุงเทพฯ
งานนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ ผลสรุปการพัฒนาผลิตภาพผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม 50 กิจการ และความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชเศรษฐกิจกัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 48 ล้านบาท
วันนี้ (19 ธันวาคม 2565) นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวแสดงความยินดีผลสำเร็จของกิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพเกษตรอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย” หรือ ดีพร้อมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเป้าหมาย (DIPROM Target Agro-Industry) กิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ 5 กิจการ
ที่โดดเด่น
นางสาวณัฏฐิญา กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินกิจกรรมครั้งนี้นับได้ว่าก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชา กัญชง กระท่อม หรือพืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก. สู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม และอุตสาหกรรม 3ก. ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยตามแนวนโยบาย BCG โดยการเพิ่มผลิตภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ขยายโอกาสทางการค้าอันจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืน
นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลสำเร็จของกิจกรรมได้มุ่งเน้นทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน/OTOP โดยเฉพาะวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กัญชา กัญชง กระท่อมและพืชสมุนไพร
คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจำนวน 50 กิจการ ได้แก่ กัญชง 26 กิจการ กัญชา 15 กิจการ กระท่อม 5 กิจการ และสมุนไพร 4 กิจการ เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย
1) จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภาพด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมจำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรม ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร และผ่านออนไลน์กว่า 400 คน และ
2) จัดผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการวินิจฉัยและวิเคราะห์ศักยภาพผู้ประกอบการพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำการพัฒนาปรับปรุงผลิตภาพ ในด้านต่างๆ คือ
• การพัฒนา/ปรับปรุงผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพรเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวม 27 กิจการ
• การเตรียมความพร้อมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพร เช่น การจัดทำ Certificate of Analysis หรือ COA รวม 15 กิจการ
• การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวม 5 กิจการ
• การพัฒนาและจัดการการผลิตเพื่อลดการสูญเสีย ลดต้นทุนหรือเพิ่มโอกาสทางการค้า รวม 3 กิจการ
ภายในงานมีการบรรยาย “ตลาดผลิตภัณฑ์ 3ก. และสมุนไพรโลก คุณภาพมาตรฐานที่ตลาดส่งออกต้องการ” โดย ดร. เอมอร โคพีร่า ประธานกรรมการบริหารบริษัทจีนีโอมิกซ์ โกลบอล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง กระท่อมและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และด้านคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
รวมทั้งมี การจัดแสดงต้นแบบผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงและกระท่อม กว่า 20 ผลิตภัณฑ์ อาทิ
ต้นแบบผลิตภัณฑ์ไก่ย่างหมักสมุนไพรและใบกัญชาสูตรลดโซเดียม, เครื่องดื่มชาใบกัญชงรสน้ำผึ้งมะนาว, ผลิตภัณฑ์ผงเคลผสมกัญชงอัดเม็ด, น้ำปลาร้าปรุงสุกผสมกัญชง, ผงปรุงรสผักผสมกัญชง, ชาข้าวคั่วผสมใบกัญชง, เครื่องดื่มมัลเบอร์รี่ผสมใบกัญชง, เครื่องปรุงรสสำหรับหมักเนื้อสัตว์, ปลาร้าผงผสมใบกัญชา, เครื่องดื่มกัญชงผงชงละลาย, กระท่อมผงชงละลาย, ถังสำหรับใส่น้ำแข็งผสมแกนกัญชง, เครื่องดื่มกัญชงผสมคาโมมายด์และเปเปอร์มิ้น, ซอสหมักปรุงรสสำเร็จรูปชนิดผงและผงปรุงรสผักผสมกัญชง
รวมทั้งแสดงผลงานโดดเด่นของ 5 กิจการต้นแบบ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาลผสมกัญชง โดยวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนา สมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน
2. ผลิตภัณฑ์ช้อนพลาสติกผสมแกนกัญชง โดยบริษัท ไทยนำมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
3. ผลิตภัณฑ์ปลาร้าผงผสมกัญชา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูมิปัญญาสมุนไพร
4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมัลเบอร์รี่ผสมสารสกัดกัญชาชนิดเม็ดฟู่ โดยสวนสมุนไพรมงคลพัฒน์
5. ผลิตภัณฑ์น้ำหวานเข้มข้นผสมใบกัญชากลิ่นเทอร์ปีน ที่พัฒนาเทคนิคการยืดอายุการเก็บให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น โดยบริษัท โซล พาร์ทเนอร์ จำกัด
การดำเนินงานกิจกรรมข้างต้น นับว่าส่งผลในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน OTOP และที่เกี่ยวข้องในพืชเศรษฐกิจสำคัญ 3ก. ซึ่งคาดว่าผลลัพธ์ของการพัฒนาผลิตภาพผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 50 กิจการ จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 48 ล้านบาท นางสาวอริยาพร กล่าวทิ้งท้ายความสำเร็จ