ถาม-ตอบ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อห้าม ข้อควรระวัง อาการข้างเคียง
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ในช่วงเวลานี้ กรมควบคุมโรคได้จัดให้คำตอบต่างๆ ไว้แล้วดังนี้
ถาม : บุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19
ตอบ ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีน แต่ในช่วงที่วัคซีนเริ่มมีใช้จะมีจำนวนจำกัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาดสำหรับกลุ่มอื่นๆ ให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขในระยะถัดไปๆ
ถาม : กรณีกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว แต่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีน โควิด 19 ได้หรือไม่
ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 ในประชากรที่อายุน้อยกว่า18 ปี กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว จึงยังไม่ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในช่วงนี้ เว้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง และแพทย์ประเมินแล้วว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
ถาม : ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนใดได้บ้าง
ตอบ ขณะนี้มีการศึกษาวัคซีน AstraZeneza ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปีแล้ว องค์การอนามัยโลกและไทย จึงรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุได้ สำหรับวัคซีนของ Sinovac ยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุที่มากเพียงพอ จึงควรฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ถาม : ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรรับวัคซีนชนิดใด
ตอบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวัคซีนใดที่ทำในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ดีการให้วัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด 19 รุนแรง อาจต้องชั่งประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์น่าจะมากกว่า ก็สามารถให้วัคซีนได้ โดยให้แพทย์ประจำตัวเป็นผู้พิจารณาเลือกชนิดของวัคซีน
ถาม : หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
ตอบ จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด 19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลเสมอ หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
ถาม : มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนโควิด 19
ตอบ วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที
ถาม : วัคซีนโควิด 19 ที่มีให้บริการในประเทศไทย มีชนิดใดบ้าง
ตอบ มี 2 ชนิด คือ
- วัคซีนป้องกันโควิด 19 แอสตร้าเซนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) โดยให้ในในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์
- วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวด (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งขณะนี้กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์
ถาม : เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เมื่อเป็นโรคมีอาการรุนแรงน้อยลงหรือไม่
ตอบ วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ป้องกันโรครุนแรงได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากได้ จึงยังจำเป็นต้องรักษามาตรการในการป้องกันเชื้อในชุมชน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางกายภาพ และล้างมือบ่อย ๆ ต่อไป
ถาม : วัคซีนฉีดแล้วสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่
ตอบ วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันพัฒนามาจากไวรัสที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพ
ในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ลดลง อย่างไรก็ดีผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำในอนาคต
ถาม : หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ยังต้องมีการฉีดซ้ำเหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่
ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด 19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคำแนะนำในขณะนี้
ถาม : สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่
ตอบ เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิดและวัคซีนที่ต้องการใช้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญกว่า
ถาม : หากฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว แต่มาทราบภายหลังว่าเพิ่งได้รับวัคซีนอื่นไปก่อนหน้านี้ภายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ต้องทำอย่างไร
ตอบ สามารถนับการได้วัคซีนโควิด 19 ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกได้ และให้วัคซีนโควิด 19 ครั้งถัดไป ตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามชนิดของวัคซีนที่ฉีด
ถาม : ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่
ตอบ สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ครั้งต่อไปและยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้
ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม
ถาม : วัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด/ยี่ห้อ สามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่
ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษารองรับกรณีการฉีดสลับยี่ห้อ จึงยังคงแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันไปก่อนจนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม
ถาม : คำแนะนำในการปฏิบัติตนของผู้รับวัคซีน โควิด 19
ตอบ ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนควรเน้นย้ำผู้มารับวัคซีนโควิด 19 ว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อทั้งที่มีหรือไม่มีอาการได้ แต่วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรงได้ดี ดังนั้นนอกเหนือไปจากการที่ให้ผู้รับวัคซีนรับทราบข้อมูลของวัคซีน ผลข้างเคียง และอาการที่ต้องมาพบแพทย์แล้ว ผู้รับวัคซีนยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาระยะห่างทางสังคม และการกักตัวอย่างเคร่งครัด หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโควิด-19 และควรมาพบแพทย์เพิ่มเติมเพื่อตรวจวินิจฉัย หรือทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ถาม : เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และ
อาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรง เป็นแบบใด สังเกตอย่างไร
ตอบ การพิจารณาว่ามีอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง
เป็นอาการที่คาดเดาได้ว่าเกิดขึ้นได้จากการรับวัคซีน โดยจะเกิดเพียง 1-2 วันหลังได้รับวัคซีน และสามารถรับวัคซีนเข็มต่อไปได้ อาการที่เกิดขึ้น เช่น
- บวมแดง บริเวณที่ฉีด
- ครั่นเนื้อ ครั่นตัว
- ปวดเมื่อย
- ใจสั่น หมดแรง
- เป็นไข้
- อ่อนเพลีย ง่วงนอน
- เวียนหัว ปวดหัว
- ผื่น เช่น maculopapular rash สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจให้กินยา กลุ่ม Antihistamine ก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที
อาการที่รุนแรง
อาการแพ้รุนแรง ชนิด แอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) เกิดหลังได้รับวัคซีน ภายใน 30 นาที ผู้มีอาการดังกล่าวอาจพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนคนละยี่ห้อ (ที่ไม่มีส่วนผสมเหมือนกัน) อาการที่เกิดขึ้นได้มีดังนี้
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- ความดันลด ระบบในร่างกายล้มเหลว เช่น ปัสสาวะ อุจจาระราด
- คัดจมูก เสียงแหบ หอบเหนื่อย
- ผื่นลมพิษ คัน ผื่นแดงทั้งตัว
- หายใจติดขัด
- หัวใจเต้นเร็ว
- ไอ จาม น้ำมูกไหล
- พูดไม่ชัด