แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรมคณะอนุกรรมการแนวทางเวชปฏิบัติและจัดการความรู้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2564
1. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนให้บุคคลทุกคนที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันโดยเร็วที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมาตรวจติดตามรับการบริบาลที่สถานพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ได้รับวัคซีนโควิด 19 ในวันที่มารับบริการหรือก่อนจำหน่ายกลับบ้าน
2. วัคซีนโควิด 19 มีชนิดต่างๆ ดังนี้
2.1. Inactivated vaccines ได้แก่ Sinopharm COVID-19 vaccine© (Sinopharm BBIBP-CorV & WIBP-CorV), CoronaVac© (Sinovac Biotech, Ltd.), Covaxin© (Bharat Biotech), CoviVac© (Chumakov Centre) และ QazCovid-in© (Research Institute for Biological Safety Problems in Kazakhstan)
2.2.Messenger RNA (mRNA) vaccines ได้แก่ Comirnaty© (Pfizer- BioNTech, BNT162b2) และ COVID-19 Vaccine Moderna© (ModernaTX, Inc., mRNA-1273)
2.3. Protein subunit vaccines ได้แก่ Covovax© (Novavax, Inc.), EpiVacCorona© (VECTOR center of Virology) และ Zifivax© (Anhui Zhifei Longcom, RBD-Dimer)
2.4. Viral vector vaccines ได้แก่ Covishield©, Vaxzevria© และ COVID-19 Vaccine AstraZeneca© (Oxford/AstraZeneca, ChAdOx1-S), Sputnik V© และ Sputnik Light© (Gamaleya Research Inst.), Janssen COVID-19 Vaccine© (Johnson & Johnson; Janssen Inc, Ad26.COV2.S) และ Convidecia© (CanSino Biologics)
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccines)
ณ ปัจจุบัน (25 พฤษภาคม 2564) วัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด 19) ภายใต้การอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค ไต้แก่ COVID-19 Vaccine AstraZeneca©, CoronaVac©, Janssen COVID-19 Vaccine© และ COVID-19 Vaccine Moderna©
3. ผู้ป่วย/บุคคลต่อไปนี้สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย และแนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทันทีที่ทำได้
3.1 ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งอยู่ในภาวะคงที่ เช่น โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวานซึ่งไม่มีภาวะวิกฤตแม้ยังควบคุมระดับความดันเลือดหรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย โรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคข้ออักเสบ/โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ ภาวะสมองเสื่อม อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไตเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง โรคหืด/ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) ไขกระดูกทำงานผิดปกติ (MDS หรือ MPN) โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา และโรคมะเร็งอื่น
3.2. ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างได้รับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่างๆ เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา การบำบัดทดแทนไต ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ ยาสูดสเตียรอยด์ ยาควบคุมอาการของโรคต่างๆ (ยกเว้นผู้ป่วยในข้อ 4)
3.3. ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติหรือได้รับยาต้านเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ไม่ใช่วาร์ฟาริน (เช่น aspirin, clopidogrel, ticagrelor, prasugrel) รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินต้านการแข็งตัวของเลือด กรณีมีผลตรวจระดับ INR ต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์, หรือมีผลระดับ INR ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด (ไม่จำเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาและไม่จำเป็นต้องตรวจ INR ก่อนรับวัคซีน) รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก 25G หรือ 27G ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แล้วกดตำแหน่งฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบเย็นต่อด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น
3.4. บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่างๆ
3.5. ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูลได้ (เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยติดเตียง) ควรให้บุคคลซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รับทราบข้อมูลและตัดสินใจแทน
3.6. ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
4. บุคคล/ผู้ป่วยที่แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
4.1. บุคคลที่มีประวัติแอนาฟิแล็กซิสจากวัคซีนอื่นมาก่อน แนะนำให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่ผู้ป่วยเคยแพ้ และให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกันกับวัคซีนที่เคยแพ้ได้ทันที (ดูตารางสรุปส่วนประกอบของวัคซีนและชนิดวัคซีนโควิด 19 ที่เลือกใช้ได้ในผนวกท้ายแนวทางเวชปฏิบัตินี้)
4.2. ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียรหรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต (life-threatening) เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน (acute coronary syndrome) ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute decompensated heart failure) โรคความดันเลือดสูงฉุกเฉิน (hypertensive emergency) โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke) โรคปอดอุดกั้น เรื้อรัง/โรคหืดที่มีอาการกำเริบ (acute exacerbation of COPD/asthma) ผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัด แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทันทีเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้วหรือก่อนจำหน่ายกลับ
4.3. ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แนะนำให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แล้วรีบจัดให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทันทีที่จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลเกิน 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
4.4. ผู้ป่วยโรคเลือดซึ่งได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเชลล์ต้นกำเนิด (stem cells) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T cell แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T cell ดังกล่าว
4.5. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ) แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังผ่าตัดและมีอาการคงที่แล้ว หรือเมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ โดยให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน
4.6. ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี (antibody therapy) หรือได้รับยาแอนติบอดี (antibody drugs: -mab) แนะนำให้รับการฉีดวัคชืนโควิด 19 ได้ดังนี้
4.6.1. ผู้ป่วยโควิด 19 ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด 19 (convalescent plasma containing anti-SARS-Cov-2 antibodies) หรือ monoclonal antibodies for treatment of COVID-19 (casirivimab & imdevimab) แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังได้รับการบำบัดดังกล่าว
4.6.2. ผู้ป่วยที่ได้รับยา rituximab แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับยาดังกล่าว หรือก่อนให้ยา rituximab ครั้งแรกอย่างน้อย 14 วัน
4.6.3. ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอนติบอดีขนานอื่น (เช่น omalizumab, benralizumab, dupilumab) แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 7 วันก่อนหรือหลังได้รับยาดังกล่าว
5. บุคคลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั้งก่อนและหลังการฉีด สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ (เช่น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งชา/กาแฟ ยาต่าง ๆ ตลอดจนทำหน้าที่การงานที่เคยทำปกติได้) และไม่ควรออกกำลังกายหนักกว่าที่เคยทำปกติหรือพักผ่อนน้อยกว่าปกตีในช่วง 1-2 วันก่อนและหลังการได้รับวัคซีน
ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนอื่น (เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคชีนบาดทะยัก) ให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะเวลาแต่ให้ฉีดที่ตำแหน่งต่างกัน ส่วนในกรณีต้องการสังเกตอาการ/ผลไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีนแต่ละชนิด อาจเว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์
6. เอกสารเพิ่มเติม
6.1. มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย,
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิคในผู้ป่วยมะเร็ง.
6.2. สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย.
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชน.
https://bit.ly/3bQHMNe
6.3. สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย.
แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ป่วยที่ได้รับหรือรอรับ
6.4. สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย.
คำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้สูงอายุ.
https://bit.ly/3ujhgCr
6.5. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
ข้อควรพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด.
http://www.thaiheart.org/
6.6. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย.
แนวทางในการให้วัคนป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและโรคแพ้ภูมิตัวเอง.
http://bit.ly/COVIDVaxRheum
6.8. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย,
คำแนะนำในการรับวัคซีนในผู้ใหญ่ ในช่วงที่มีการระบาดของCOVID-19.
https://bit.ly/3hSrIhU
6. 9. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช
6.11. สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย.
คำแนะนำการรับวัคชีนโควิด 19 สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี.