นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดกรณีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินค่าตรวจหรือค่ารักษาจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งๆ ที่มีการตกลงราคาค่าบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายไปที่ สปสช.เพียงที่เดียว โดย นพ.เฉลิม กล่าวว่า สมาชิกในสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมีกว่า 400 แห่ง มีความหลากหลาย มีโรงพยาบาลหลายระดับ ทำให้บางแห่งที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน อาจไม่คุ้นเคยกับระบบการทำงานแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้สื่อสารไปสมาชิกทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าคงไม่น่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยขึ้นอีก
"โควิด-19 ถูกประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรงฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2563 และยังไม่ถูกยกเลิก ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบก็ต้องเข้ามาอยู่ในภาพของการดูแลรักษาทั้งหมด" นพ.เฉลิม กล่าว
นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ต้องขอขอบคุณ สปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ด้วยที่รับฟังข้อเสนอแนะจากโรงพยาบาลเอกชนและมีการปรับปรุง เช่น บางทีภาคเอกชนก็บอกว่าจ่ายเงินช้า สปสช.ก็มีการปรับปรุง เชื่อว่าหลังจากนี้ปัญหาจะน้อยลงไปเยอะและทำงานสะดวกมากขึ้น หรือสัปดาห์ก่อนก็มีการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายหลายอย่างให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เช่น ค่าห้องความดันลบ เดิม 5,000 บาท ก็เป็น 6,000 กว่าบาท พยาบาลห้อง ICU จาก 4,800 บาทก็เพิ่มเป็นประมาณ 7,000 บาท อย่างนี้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และหลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว การทำงานก็จะสบายใจทุกฝ่าย ประเด็นการเรียกเก็บเงินก็คงน้อยลงไปเยอะ
นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า สมาคมฯ ยังได้แจ้งให้สมาชิกปรับแนวปฏิบัติไม่ต้องแจ้งรายการค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้าใจว่าโดยธรรมชาติของโรงพยาบาลเอกชนจะแจ้งประเมินราคาให้ผู้ป่วยทราบก่อน อาจจะทุก 1-2 วัน ซึ่งกรณีแบบนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดของคนไข้ว่าตัวเองต้องจ่ายทั้งที่จริงๆ แล้วโรงพยาบาลก็ไปเรียกเก็บจาก สปสช. ดังนั้นจึงได้ขอให้สมาชิกไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายเพื่อไม่ให้คนไข้เข้าใจผิด
"ตอนนี้มันสับสนวุ่นวาย บางทีก็แจ้งรายการโน่นนี่ เราต้องเอากรอบก่อนว่าในยุคระบาดหนักขนาดนี้ คนไทยเข้าโรงพยาบาลเอกชนเราก็จะส่งบิลไปเก็บกับ สปสช. ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แบบนี้เข้าใจง่ายกว่า" นพ.เฉลิม กล่าว
31 พฤษภาคม 2564
Gnews