ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภูเก็ต ผ่อนคลายสถานที่และกิจกรรมเพิ่ม รับ Phuket Tourism Sandbox

ภูเก็ต ผ่อนคลายสถานที่และกิจกรรมเพิ่ม รับ Phuket Tourism Sandbox Thumb HealthServ.net
ภูเก็ต ผ่อนคลายสถานที่และกิจกรรมเพิ่ม รับ Phuket Tourism Sandbox ThumbMobile HealthServ.net

เริ่ม 21 มิย 64 - สถานที่ 10 ประเภท กิจกรรมเสี่ยง กิจกรรมทางสังคม การถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยง

ภูเก็ต ผ่อนคลายสถานที่และกิจกรรมเพิ่ม รับ Phuket Tourism Sandbox HealthServ
จากแผนนำร่องเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวของจังหวัดภูเก็ตในโครงการ Phuket Tourism Sandbox ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประกอบกับมาตรการป้องกันโรคที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ และแผนการดำเนินการจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีน  จึงเป็นที่มาให้ทางจังหวัดมีคำสั่งเพื่อผ่อนคลายในบางสถานที่ ให้กับประชาชนและธุรกิจ ให้สามารถดำเนินงาน ทำกิจกรรม อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เดินไปได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข

21 มิถุนายน 2564 จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 3373/2564 เรื่อง  ผ่อนคลายการปิดสถานที่ (เพิ่มเติม) มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป



ข้อ 1 ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม บางประเภท ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2921/2564 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ผ่อนคลายการปิดสถานที่และกำหนดมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ในภาคผนวก ก. แนบท้ายคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด

1. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมโดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ยกเว้น ส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

3. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่มิได้ประกอบกิจการเป็นสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้มีการจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในร้านได้ไม่เกิน เวลา 23.00 น.

4. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ

5. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส แบดมินตัน สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม 

6. ร้านเสริมสวย ร้านตัด และตกแต่งทรงผมสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ

7. สถานที่จัดให้มีโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด โต๊ะพูล หรือการเล่นที่มีลักษณะคล้ายกันโดยจัดให้มีการเล่นได้ระหว่างเวลา 15.00 น. ถึงเวลา 23.00 น.

8. ร้านเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนด 

9. โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ สวนน้ำ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ยกเว้น สวนสนุก เครื่องเล่นประจำที่ หรือเครื่องเล่นแบบเคลื่อนที่กลางแจ้ง ให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ เวลา 06.00 – 20.00 นาฬิกา

10. การรวมกลุ่มทำกิจกรรม สังสรรค์ จำหน่าย บริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ ชายหาด สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ถนนริมคลอง ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ขุมน้ำสาธารณะให้ถือปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
 
ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน เว้นแต่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค 

ข้อ 3 การจัดกิจกรรมทางสังคม  การจัดกิจกรรมทางสังคม งานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงรับ - ส่ง และเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมเช่น งานพิธีการศพ งานอุปสมบท งานมงคลสมรส วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ และปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 4 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง  ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นระยะเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ การปฏิบัติงานดังกล่าวให้เพียงพอต่อภารกิจให้บริการประชาชน

ข้อ 5 การผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน ให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่ประกาศกำหนดในการจำกัดจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมการถ่ายทำ การยกเว้นไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในบางกรณีหรือบางช่วงเวลาของการถ่ายทำ และต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ศบค.

ข้อ 6 มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ทุกแห่งในท้องที่จังหวัดภูเก็ต เป็นการชั่วคราวต่อไป และให้ปิดสนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามแข่งนก สนามแข่งไก่ สนามมวย หรือสถานที่จัดให้มีการเล่นการพนัน เป็นการชั่วคราวต่อไป
 
ข้อ 7 มาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่นๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ในกรณีที่พบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง  ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรณีตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 2921/2564 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ผ่อนคลายการปิดสถานที่ และกำหนดมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดแตกต่างกันให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้
 
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
 
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  21 มิถุนายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป  จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด