ถึงนาทีนี้ หลายคนคงเริ่มได้ยินชื่อโครงการโคแวกซ์ (Covax) กันบ้างแล้ว ตามสื่อต่างๆ หรือจากการแถลงของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับข้องกับการจัดหาวัคซีน หรือหน่วยงานด้านการควบคุมป้องกันโรคโควิด ก็ตาม คำตอบที่เราควรมีคำตอบให้ตัวเองเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน คือ โครงการนี้คืออะไร เพื่ออะไร จำเป็นแค่ไหน แล้วไทยมีส่วนอย่างไร หรือจะได้ประโยชน์/เสียประโยชน์อย่างไร กับโครงการระดับโลกในภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิดขณะนี้ วันนี้จึงมีรายละเอียดเรื่องนี้จากข้อมูลในสื่อต่างประเทศมานำเสนอเพื่อขยายการรับรู้และความเข้าใจ ดังนี้
ทำความรู้จักโครงการ Covax โดยละเอียด
บทความนี้หลักๆเลย พี่ทีมงานเป็นคนเขียนนะครับ ผมเติมอะไรนิดๆหน่อยๆเฉยๆ ขอบคุณพี่เค้ามา ณ ที่นี้ด้วย.. ที่มาของบทความนี้ก็คือ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในตอนต้น เนื่องด้วยเห็นว่ามีเงื่อนไขที่เข้มงวดเกินไปประกอบกับไม่มีความชัดเจนเรื่องชนิดของวัคซีนและระยะเวลาส่งมอบ และเห็นว่าการสั่งซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แถลงว่าไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์เพื่อจัดหาวัคซีนปี 2565 ทางทีมงานก็เลยคิดว่า เราควรมาทำความรู้จักโครงการโคแวกซ์กันโดยละเอียดเสียหน่อยดีกว่า
คำถามถัดมาหลังแต่ละคนเข้าไปอ่านก็คือ ไทยเข้าร่วมแบบไหนกันแน่ระหว่าง สัญญาซื้อขายแบบผูกมัด (Committed Purchase Arrangement) หรือ สัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก (Optional Purchase Arrangement) อันนี้ยังตอบกันไม่ได้จริงๆครับ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน คงต้องรออีกซักพัก
ที่มาของโครงการโคแวกซ์
เป็นที่แน่ชัดตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดโรคโควิด 19 ว่าวั คซีนและการเข้าถึงวัคซีนของทุกคนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเอาชนะวิกฤติโรคระบาดของโลกในครั้งนี้ ซึ่งความคิดนี้เป็นที่มาของการเกิดโครงการ Covax (COVID-19 Vaccines Global Access)
โครงการโคแวกซ์ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) องค์การอนามัยโลก
(WHO) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI โดยมี 184 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นประชากรรวมกันถึงสองในสามของประชากรโลก ในจำนวนนี้มี 92 ประเทศ ที่นับเป็นประเทศยากจนที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนฟรี ที่เหลือเป็นประเทศร่ำรวยที่เข้าร่วมในฐานะประเทศผู้บริจาค และประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง ที่มี Covax เป็นตัวกลางในการสนับสนุนงานวิจัยพัฒนา การผลิตวัคซีน และการเจรจาต่อรองราคาวัคซีน โดยทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการสามารถได้รับวัคซีนโดยไม่คำนึงถึงฐานะความมั่งคั่งของประเทศ Covax ตั้งเป้าหมายที่จะกระจายวัคซีนให้กับประชากร 20% ของประเทศที่มีฐานะยากจนจำนวน 92 ประเทศ และมีเป้าหมายในการกระจายวัคซีนจำนวน 2000 ล้านโดส ให้ทั่วโลกภายในปี 2021 และจำนวน 1800 ล้านโดสให้กับประเทศยากจน 92 ประเทศภายในต้นปี 2022
ทำไมต้องมี Covax?
ภาวะโรคระบาดรอบโลกที่เรากำลังประสบอยู่นี้แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศร่ำรวยจะได้วัคซีนไปมากมายในการฉีดให้ประชากรของตน แต่หากในส่วนอื่นๆของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงนั้น ภาวะโรคระบาดก็จะไม่มีวันหมดไปได้ กล่าวคือ ถ้าปราศจากโคแวกซ์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะไม่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด 19 ซึ่งจะทำให้โลกไม่สามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปพร้อมๆ กันได้
จนถึงปัจจุบันมีวัคซีนกว่า 170 ยี่ห้อที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา แต่มีแนวโน้มว่า วัคซีนส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จ จากสถิติที่ผ่านมา วัคซีนที่ผ่านขั้นตอนการทดลองทางคลีนิคเบื้องต้น (Preclinical Trial Stage) มีโอกาสทดลองสำเร็จเพียงแค่ 7% และวัคซีนที่ทดลองถึงขั้นการทดลองทางคลีนิค (Clinical Trial Stage) ก็ยังมีความเป็นไปได้ในการทดลองสำเร็จแค่ 20% ด้วยเหตุผลนี้ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในความสำเร็จ โคแวกซ์ได้สร้างเครือข่ายข้อมูลวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกโครงการสามารถเข้าถึงข้อมูลเครือข่ายวัคซีน เมื่อวัคซีนตัวใดได้รับการพิสูจน์ว่า ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพถึงเกณท์และมีการเริ่มผลิต ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนฟรีจะได้วัคซีนในสัดส่วน 20% ของประชากรประเทศ ส่วนประเทศที่ต้องจ่ายเงินซื้อเอง ก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนตามที่สั่งซื้อ
ในการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศสมาชิก GAVI ได้ก่อตั้งกลไกขับเคลื่อนที่เรียกว่า Covax Facility ขึ้น
โดยให้ประเทศที่จ่ายเงินซื้อเอง และประเทศที่ได้รับจัดสรรฟรีเข้าร่วมเป็นสมาชิก หน่วงานที่รับหน้าที่ระดมทุน คือ Covax AMC Advance Market Commitment ก็ร่วมอยู่ในกลไกขับเคลื่อนนี้ด้วย โดย Covax AMC จะช่วยจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน 92 ประเทศดังกล่าว
COVAX Facility คืออะไร?
ภารกิจหลักของ Facility คือการพยายามจัดสรรวัคซีนให้ประเทศสมาชิกอย่างเร็วที่สุด ยุติธรรมที่สุด และปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย Covax Facility ยังมุ่งมั่นที่จะสรรหาชนิดของวัคซีนตามความต้องการของประเทศสมาชิก อีกทั้งยังเจรจาทำข้อตกลงซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับผู้ผลิตในนามประเทศสมาชิก เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้วัคซีนในปริมานและเวลาและราคาที่ยุติธรรมที่สุด เพราะด้วยคำสั่งซื้อวัคซีนปริมานมหาศาลทำให้ Covax Facility มีอำนาจต่อรองด้านราคากับผู้ผลิตโดยตรง Covax Facility ยังประเมินความสามารถในการขยายการผลิตและทำงานร่วมกับผู้ผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติอีกด้วย ทั้งนี้เพราะถ้ารอจนกว่าจะได้รับการอนุมัติ จะเป็นการล่าช้าและทำให้วัคซีนขาดแคลนไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียทางมหาศาลรายวัน
ประเทศที่จ่ายเงินซื้อวัคซีนเองสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้ร้อยละ 10-50 ของประชากรโดยปริมาณที่สั่งซื้อจาก Covax Facility จะทำให้ประเทศนั้นๆมั่นใจได้ว่าจะได้วัคซีนจากโครงการแน่นอน เพราะบางประเทศอาจจะไม่สามารถเจรจาซื้อวัคซีนโดยตรงกับผู้ผลิตได้
ประเทศที่จ่ายเงินซื้อเองสามารถซื้อวัคซีนจากโครงการได้ในสองรูปแบบ แบบแรก เป็นสัญญาซื้อขายแบบผูกมัด (Committed Purchase Arrangement) โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินมัดจำ 1.60 USD ต่อโดสหรือ15% ของราคาเต็มต่อโดส และตอ้งวางหนังสือค้ำประกัน (Financial Guarantee) 8.95 US ต่อโดส (ราคาต่อโดสคือ 10.55 USD) ประเทศที่ซื้อวัคซีนแบบนี้จะได้วัคซีนตามจำนวนที่สั่งซื้อแต่ไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนได้ แต่ก็มีทางเลือกสามารถปฏิเสธไม่ซื้อวัคซีนได้ ถ้าวัคซีนมีราคาเกินสองเท่า จากราคาที่ตกลงกันไว้ คือ เกิน 21.10 USD ต่อโดส ทางเลือกนี้อาจส่งผลให้ได้วัคซีนล่าช้าถ้าวัคซีนที่ทดลองสำเร็จก่อนมีราคาสูงกว่า
แบบที่สองเป็นสัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก (Optional Purchase Arrangement) ประเทศที่เลือกสัญญานี้ สามารถสละสิทธิการรับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งที่ได้รับการจัดสรรได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนที่สั่งซื้อไป สำหรับทางเลือกนี้ ประเทศผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าต่อโดส 3.10 USD และเงินประกันความเสี่ยง 0.40 USD รวมเป็น 3.50 USD ต่อโดส ประเทศที่เลือกสัญญาแบนี้จะไปประเทศที่ได้มีการตกลงซื้อขายกับผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง
โดยสรุปแล้ว สัญญาซื้อวัคซีนแบบแรกมีข้อดีคือ จ่ายเงินล่วงหน้าน้อยกว่า ส่วนสัญญาซื้อแบบที่สองมีข้อดีคือสามารถเลือกวัคซีนที่ตอ้งการได้ แต่ข้อเสียคือ อาจะทำให้ได้วัคซีนล่าช้าถ้าวัคซีนที่ต้องการ ประสบความสำเร็จช้าหรือผลิตได้น้อย อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินมัดจำมากกว่า
วัคซีนจะมีการจัดสรรอย่างไร?
เมื่อใดที่วัคซีนตัวใดตัวหนึ่งได้ผ่านการทดลองทางคลีนิคสำเร็จ โดยมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพเพียงพอ และได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้ วัคซีนจะถูกจัดสรรให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการในอัตราส่วนเท่าๆ กันเทียบกับสัดส่วนของประชากร โดยจะมีการเก็บวัคซีนสำรองประมานร้อยละห้าของปริมาณวัคซีนทั้งหมด เพื่อเก็บไว้ในยามฉุกเฉินและใช้ในงานด้านมนุษยธรรมอื่น เช่น นำไปฉีดให้กับผู้อพยพซึ่งไม่มีสิทธิได้รับวัคซีนจากประเทศใดเลย
ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้ระหว่างร้อยละ 10-50 ของประชากร แต่จะไม่มีประเทศใดได้วัคซีนเกินร้อยละ 20 ของประชากร จนกว่าประเทศอื่นๆ จะได้วัคซีนครบร้อยละ 20 ยกเว้นประเทศอื่นๆที่ว่ามานี้จะจงใจเลือกที่จะสั่งซื้อวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของประชากรเอง
จากข้อเท็จจริงที่ว่าประชาคมโลกได้มีการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกันเพื่อต่อสู้วิกฤติโรคระบาดของโลกครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และการที่มีประเทศที่จ่ายเงินเองเข้าร่วมซื้อวัคซีนจากโครงการอย่างมาก ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการที่ Covax Facility จะได้เจรจาทำข้อตกลงซื้อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ประเทศใดได้วัคซีนจากโครงการโคแวกซ์แล้วบ้าง?
จนถึงขณะนี้ วัคซีนหกยี่ห้อได้รับการอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้แก่
- แอสตร้าเซเนกา
- ไฟเซอร์/ไบออนเทค
- จอนสันแอนด์จอนสัน
- โมเดิร์นนา
- ชิโนฟาร์ม และ
- ชิโนแวค
ในขณะที่มีเพียงวัคซีนของไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนกา เท่านั้นที่ได้มีการบริจาคเข้าโครงการโคแวกซ์ โดยที่โมเดิร์นนาสัญญาที่จะบริจาคให้โครงการในปี 2022 จำนวน 500 ล้านโดส
โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2564 โคแวกซ์ได้ส่งมอบวัคซีนจำนวน 152.8 ล้านโดสให้กับประเทศสมาชิก 137 ประเทศ เราลองมาดูกันว่า ประเทศเพื่อนบ้านไทย ได้รับวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าไร
- อินโดนีเซีย ราว 16.2 ล้านโดส (4.5 ล้านโดสเป็นโมเดิร์นนาจากสหรัฐอเมริกา)
- ฟิลิปปินส์ ราว10.3 ล้านโดส
- เวียดนาม ราว 4.5 ล้าน โดส
- มาเลย์เซีย 828,000 โดส
- กัมพูชา 324,000 โดส
- บรูไน 24,000 โดส
การร่วมบริจาคของสมาชิก G7
ในการประชุมG7 ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยูนิเซฟได้มีการกระตุ้นร้องขอให้ประเทศสมาชิก G7 ช่วยบริจาคเงินและวัคซีนช่วยโครงการโคแวกซ์ โดยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษประกาศในที่ประชุมว่าอังกฤษจะบริจาควัคซีน 100 ล้านโดส ส่วนนายกรัฐมนตรีเยอรมัน Angela Merkel กล่าวว่า ประเทศ G7 ต้องการแจกจ่ายวัคซีนรวม 2.3 พันล้านโดสให้กับประเทศที่ยากจนกว่าภายในสิ้นปี 2022 โดยสรุปจากการประชุมดังกล่าวประเทศต่างๆ บริจาคเงินและวัคซีนดังนี้
- เยอรมนีบริจาคเงินมากกว่า 2 พันล้านยูโร รวมถึงบริจาควัคซีนอีก 350 ล้านโดส
- สหรัฐอเมริกา บริจาควัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดส (จากเดิมที่บอกว่าจะบริจาค 60 ล้านโดส)
- ญี่ปุ่น บริจาคเงิน 1 พันล้าน ดอลล่าร์
- สหภาพยุโรปบริจาคเงิน 500 ล้านยูโรและเงินกู้อีก 500 ล้านยูโร และประเทศอื่นๆในทวีปยุโรปร่วมกันบริจาคกว่าพันล้านยูโร
- อังกฤษ บริจาควัคซีน 100 ล้านโดสภายใน 12 เดือน โดยจะให้ 25 ล้านโดสภายในปี 2021
- แคนนาดาบริจาคเงิน 440 ล้านดอลล่าร์
พิราบ & อินทรีล่าสาร 30/07/2021
อ้างอิง:
Copyrigh © 2020-2021 เยอรมันอินไซต์ - Germany Insights. All rights reserved.