กระทรวงสาธารณสุขเผยฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 24 ล้านโดส เข็มแรกครอบคลุม 25.5% ของประชากร ผลศึกษาวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อ การป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แม้โควิด เปลี่ยนเป็นเดลตา เตรียมซื้อซิโนแวคอีก 12 ล้านโดสฉีดไขว้แอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงเวลารวดเร็ว
วันนี้ (17 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค และนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด 19 และประสิทธิผลของวัคซีน มีข้อมูลสรุป ดังนี้
ข้อมูลล่าสุด ถึง 16 สิงหาคม 2564
- ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 24,100,631 โดส
- เป็นเข็มแรก 18,370,997 ราย คิดเป็น 25.5% ของประชากร
- เข็มสอง 5,228,157 ราย คิดเป็น 7.3%
- และเข็มสาม 501,477 ราย
ซึ่งจากการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูล เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พบการฉีดวัคซีนเข็มที่สามเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งหมด ส่วนข้อมูลการฉีดเข็มสามในประชาชนกลุ่มอื่นๆ เกิดจากความเคลื่อนของระบบในการดึงข้อมูล
สูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มสอง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ที่ต้องเว้นระยะห่างถึง 3 เดือน เหมาะที่จะฉีดให้ครอบคลุมเป็นวงกว้างและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีแผนจัดหาวัคซีนซิโนแวคสำหรับฉีดเป็นเข็มที่ 1 เพิ่มเติมอีก 12 ล้านโดส
ผลศึกษาประสิทธิผล
ด้านนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะทำงานการประเมินประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้จริงในประเทศไทยต่อการป้องกันโควิด 19 ในบุคลากรทางการแพทย์ จากฐานข้อมูลผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด กรมควบคุมโรค ระหว่าง 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2564 มีบุคลากรติดเชื้อจำนวน 3,901 คน นำมาทำการศึกษาโดยวิธีจับคู่เปรียบเทียบ 2,790 คน เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนครบโดส 2,192 คน และผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับวัคซีน 598 คนพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 98% ป้องกันการติดเชื้อ 72% เมื่อจำแนกเป็นรายเดือนซึ่งเริ่มพบเชื้อสายพันธุ์เดลตามากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา จนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมที่สัดส่วนเชื้อเดลตามากถึง 78.2% พบว่าแนวโน้มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อยังคงที่ ไม่ได้ต่ำกว่า 70% สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่ได้รับในสัดส่วนที่น้อยกว่า พบว่า ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อสำหรับผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็มอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 96% และรับเข็มเดียวอย่างน้อย 14 วันอยู่ที่ 88%
“วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ ทั้งซิโนแวคครบ 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้าที่ฉีดเข็มเดียวหรือครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพช่วยลดทั้งการติดเชื้อ การป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต สามารถใช้ต่อไปได้ โดยปรับเป็นการฉีดสลับชนิดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับสูงในเวลารวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตยังค่อนข้างต่ำ จึงขอเชิญชวนทุกคนพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตจากโควิด 19” นายแพทย์ทวีทรัพย์กล่าว
17 สิงหาคม 2564