กระทรวงสาธารณสุข ใช้สูตรวัคซีนไขว้ "ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นสูตรหลักฉีดให้ทั้งประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากสร้างภูมิคุ้มกันสูงภายใน 5 สัปดาห์ และต้านเชื้อเดลต้าได้ มีความปลอดภัย
สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ จากการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพบว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสูง 78.65 สูงระดับเดียวกันกับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มที่ได้ภูมิคุ้มกัน 76.52 ส่วนการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าในบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนพบว่าภูมิคุ้มกันสูงถึง 271.17 ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าจะเร่งส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในปีนี้ ไทยจึงนำเข้าซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดไขว้เป็นสูตรไขว้ มีระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ จะมีภูมิคุ้มกันระดับสูงที่ต้านเชื้อเดลต้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับมาฉีดสูตรนี้ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจากการฉีดที่ผ่านมาพบอาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนตัวอื่น
วัคซีนโควิด สูตรต่างๆ สำหรับคนไทย
กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
สูตรหลัก
1) วัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ หรือ
2) วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ (บางกรณี)
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปีที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
1) วัคซีน Pfizer 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
กลุ่มเป้าหมาย : บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า
1. ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม ให้วัคซีน Pfizer หรือ AstraZeneca กระตุ้น 1 เข็ม
2. ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac Sinopharm หรือ AstraZeneca 1 เข็ม ให้วัคซีน Pfizer เข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
3. วัคซีน Sinovac เข็มแรกและวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์
4. วัคซีน Pfizer 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
5. วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์