สธ.เผยสถานการณ์เตียงผู้ป่วยดีขึ้น เตรียมนำเข้ายารักษาโควิดหากวิจัยสำเร็จ
กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้ติดเชื้อโควิดแนวโน้มลดลง สถานการณ์เตียงดีขึ้น ทั้งศูนย์พักคอย (CI) และโรงพยาบาลบุษราคัมมีเตียงว่างมากกว่าผู้ป่วย ส่วนศูนย์นิมิบุตรรับส่งต่อน้อยลงเหลือ 30-40 รายเตรียมปิด มีโรงพยาบาลสนามที่โรงพยาบาลเลิดสินรองรับ เตรียมนำเข้ายารักษาโควิดมาใช้ทันทีหลังวิจัยสำเร็จและขึ้นทะเบียน
สถานการณ์เตียงผู้ป่วยดีขึ้น
วันนี้ (6 กันยายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 และการบริหารจัดการเตียง ว่า ขณะนี้แม้การติดเชื้อโควิด 19 จะเป็นสายพันธุ์เดลตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาการสีเหลืองร้อยละ 20 และอาการรุนแรงใช้เครื่องช่วยหายใจหรือสีแดงร้อยละ 3 ภาพรวมผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง สถานการณ์เตียงเริ่มดีขึ้น โดยอัตราการครองเตียงรักษาโควิดในโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 4.3 หมื่นราย ขณะที่การใส่เครื่องช่วยหายใจและการเสียชีวิตลดลงด้วย โดย กทม.และปริมณฑลจากที่มีผู้เสียชีวิตเกินครึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ลดเหลือ 1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิต
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้เข้ารับบริการศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตรจากช่วงปลายเดือนกรกฎาคมพบมากสูงสุด 350 ราย ขณะนี้ลดลงเหลือ 30-40 ราย เตรียมปิดศูนย์นิมิบุตรปลายเดือนกันยายนนี้ จะมีโรงพยาบาลสนามเลิดสินขนาด 200 เตียงรองรับ ดูแลรักษากลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง รวมถึงทำหน้าที่แรกรับส่งต่อด้วย ส่วนโรงพยาบาลบุษราคัม ขณะนี้ปิดพื้นที่ 1 ฮอลล์ เหลือเตียงรับผู้ป่วย 2,200 เตียง ยังมีเตียงว่าง 1,376 เตียง อยู่ระหว่างรักษา 800 กว่าราย
สถานการณ์ HI CI ดีขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อแยกกักที่บ้าน (Home Isolation : HI) จากเดิมวันละเป็นพันรายเหลือไม่ถึง 500 ราย วันนี้มีรายใหม่ 387 ราย รวมสะสม 92,315 ราย หายจำหน่ายแล้ว 38,402 ราย ยังแยกกักอยู่ในระบบ 53,594 ราย มีอาการมากขึ้นต้องส่งต่อโรงพยาบาลร้อยละ 7-8 ดังนั้นขอให้ไป Hospitel หรือโรงพยาบาลตามคำแนะนำ แพทย์พยาบาลที่ติดตามอาการผ่านเทเลเมดิซีนวันละ 2 ครั้ง
ส่วนการแยกกักที่ศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) ในพื้นที่ กทม.มี 60 แห่ง จำนวน 7,397 เตียง มีเตียงว่าง 5,804 เตียง ผู้ป่วยรายใหม่วันละ 100 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตใน CI ส่วน CI Plus ที่ กทม.ยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต 8 แห่ง 1,660 เตียง ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองมีเตียงว่างมากกว่าผู้ป่วย ถือว่าสถานการณ์ใน กทม.และปริมณฑลค่อนข้างดีขึ้นเมื่อเทียบกับ
1 เดือนที่ผ่านมา
เตรียมรองรับการระบาดช่วงถัดไป
สำหรับการเตรียมรองรับการระบาดในช่วงถัดไป จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะและเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด โดยโรงพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งโรงเรียนแพทย์ กรมการแพทย์ กทม. โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของทหารตำรวจ เห็นตรงกันว่าจะยังคงเตียงสีเหลืองสีแดงไว้ก่อน ส่วนกลุ่มสีเขียวมี HI และ CI อยู่ระหว่างการประเมินคุณภาพมาตรฐานการดูแล
พร้อมนำเข้ายารักษาโรคโควิด
ส่วนเรื่องยารักษาโรคโควิดโดยเฉพาะ มียาหลายตัวที่คาดว่าจะสำเร็จในระยะที่ 3 ในช่วงกันยายน-พฤศจิกายนนี้ ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือ ยา Protease Inhibitor ของไฟเซอร์ กระทรวงสาธารณสุขมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง หากการวิจัยได้ผลดีและขึ้นทะเบียนแล้วจะรีบนำเข้ามาใช้ทันที รวมถึงเตรียมรูปแบบการแพทย์วิถีใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย
“ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนไปใช้บริการร้านอาหาร บางแห่งเข้าคิว 2-3 ชั่วโมง ขอย้ำให้ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากาก งดการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหารเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะในสถานที่อากาศปิด อยากให้ช่วยกันเคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคสูงสุดตลอดเวลา ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันจะพาประเทศไทยฝ่าภัยโควิด คิดว่าเราชนะได้” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว