21 ก.ย. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติ และในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว
มีการเพิ่มหมวดการจัดการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อจากสถานการณ์ปกติ ออกจากสถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรง (ไม่ต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะเน้นไปทางด้านความมั่นคง) จะมีความเหมาะสมกับการบริหารจัดการมากขึ้น
สาระของ พ.ร.ก.จะเป็นนิรโทษให้กับฝ่ายบริหารหรือไม่
น.ส.รัชดา ระบุว่า "สาระของพ.ร.ก.ฉบับนี้ ต้องการที่จะคุ้มครองดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต สาระระบุว่ากำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานคุ้มครอง พนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมาย หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ไม่มีเนื้อหาสาระใดกล่าวถึงการเข้าไปคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายหรือบริหาร เป็นการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต
เจ้าหน้าที่ที่จะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะครอบคลุมเช่น เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย อสม. รวมถึง พนักงานกู้ภัย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยโควิด-19
22 กันยายน 2564 นายแพทย์ เศวตสรรฯ ชี้แจงข้อสงสัย พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติมดังนี้
"เรื่อง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น เมื่อวาน (21 กันยายน 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุงเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งต้องใช้เวลา ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาบังคับได้ ยืนยันว่ายังไม่บังคับใช้ และไม่น่าจะทัน 1 ตุลาคม 2564"