วันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอก จอห์น ซี. อากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ส่งมอบตู้เย็นเก็บวัคซีนให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยการบริจาคที่มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (40.5 ล้านบาท) ในครั้งนี้จะเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บวัคซีน mRNA ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของภาครัฐจำนวน 114 แห่งทั่วประเทศในพื้นที่ที่วัคซีนเป็นที่ต้องการมากที่สุด
“สหรัฐฯ ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไทยมากว่า 200 ปี โดยจับมือกันเสริมสร้างการค้าระดับทวิภาคี ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองชาติ พัฒนาการสาธารณสุข และส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาค” พลเรือเอกอากีลีโนกล่าว
รองนายกรัฐมนตรีอนุทินกล่าวว่า “ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในความเอื้อเฟื้อที่ได้มอบตู้เย็นเก็บวัคซีนจำนวน 200 เครื่องเพื่อสนับสนุนการตอบโต้โรคโควิดของไทย” และเสริมว่า “แม้ว่าตู้เย็นเก็บวัคซีนจะมีอุณหภูมิที่เย็น แต่ไมตรีของเรานั้นอบอุ่นยิ่ง”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับประชาชน ได้เริ่มจัดส่งตู้เย็นเหล่านี้แล้วเพื่อให้ไปถึงพื้นที่ที่ต้องการอย่างรวดเร็ว อันได้แก่ โรงพยาบาลบางละมุงในจังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราชในจังหวัดลพบุรี
หน่วยสนับสนุนประชาชนของกองทัพบกสหรัฐฯ (CMSE) ซึ่งเป็นทีมหลักของฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับประชาชน ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยโดยสำเร็จลุล่วงแล้วมากกว่า 20 โครงการ ตั้งแต่ที่การระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคน้ำยาตรวจหาการติดเชื้อ เครื่องตรวจหาลำดับสารพันธุกรรม (genetic variant sequencer) หรือยูนิตแยกโรค และในวันนี้ เป็นการบริจาคตู้เย็นที่ใช้สำหรับการจัดเก็บวัคซีนโดยเฉพาะ
หน่วย CMSE รับผิดชอบโครงการอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อชาวไทย เช่น การสร้างศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การสร้างอาคารให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และการจัดโครงการด้านการศึกษาให้กับตำรวจตระเวนชายแดน
การบริจาคในครั้งนี้ รวมถึงโครงการสนับสนุนประชาชนโครงการอื่น ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ แสดงถึงความทุ่มเทที่อเมริกามีให้กับภาคีชาวไทยของเราในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และความท้าทายอื่น ๆ ที่เราเผชิญร่วมกัน สหรัฐฯ และไทยมีความร่วมมือด้านการสาธารณสุขที่ยาวนานหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ยังได้ร่วมมือกับไทยในหลากหลายโครงการริเริ่มด้านสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่มาลาเรียไปจนถึงเอชไอวี มานานกว่า 60 ปี และจะยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป