AOT มีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ การเตรียมการก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งได้จัดการฝึกซ้อมแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เป็นต้น โดยการจำลองขั้นตอนการปฏิบัติทั้งในส่วนของกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการสนามบิน ตลอดจนมีการนำ Digital Technology และนวัตกรรมมาใหม่ มาใช้ในการให้บริการ
นวัตกรรมที่นำมาใช้
1) เครื่อง KIOSK CUSS (Common Use Self Service) สำหรับเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ จำนวน 196 เครื่อง
2) เครื่อง KIOSK CUBD (Common Use Bag Drop) ใช้รับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ จำนวน 42 เครื่อง
สำหรับเครื่อง CUSS Kiosk จะเป็นอุปกรณ์สำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารทำการเช็กอินด้วยตนเองผ่าน Application ของสายการบินที่ได้มีการติดตั้งไว้แล้ว รวมทั้งยังสามารถเลือกที่นั่งได้ด้วยตนเอง เพราะเครื่องจะแสดงรายละเอียดของที่นั่งได้เสมือนจริง ดูเข้าใจง่าย ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดเวลารอคิวเช็กอิน นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าเป็นเวลา 6 - 12 ชั่วโมงก่อนเดินทาง (ตามเงื่อนไขของแต่ละสายการบิน) และเมื่อผู้โดยสารเช็กอินด้วยเครื่อง CUSS เรียบร้อยแล้ว สามารถนำกระเป๋าสัมภาระโหลดผ่านเครื่อง CUBD ได้ด้วยตนเอง
มีมาตรฐานตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) กำหนดมาให้บริการผู้โดยสารในกระบวนการพิธีการผู้โดยสารขาออก ซึ่งได้ติดตั้งกระจายอยู่บริเวณแถวเช็กอินตั้งแต่ Row B ถึง Row U ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ปริมาณจราจรทางอากาศ
สำหรับประมาณการปริมาณจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์ ประมาณ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ประมาณ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ ประมาณ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า ประมาณ 100 เที่ยวบิน
คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่าน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 30,000 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 23,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 7,000 คน
เปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินใหม่
AOT มีแผนที่จะเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) คู่ไปกับแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล เพื่อเป็นการเตียมการรองรับการฟื้นตัวของการเดินทางของผู้โดยสารท้ั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะค่อยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการเติบโตในระยะถัดไป
ศักยภาพของอาคาร SAT-1
อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วยชั้น B2 เป็นชั้นของสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 สำหรับผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 เป็นร้านค้า และร้านอาหาร โดยอาคาร SAT-1 มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด แบ่งเป็นอากาศยานแบบ Code E จำนวน 20 หลุมจอด และแบบ Code F จำนวน 8 หลุมจอด
อาคาร SAT-1 สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน
บริการผู้โดยสารขาออก-ขาเข้า-ต่อเครื่อง
1) ส่วนบริการผู้โดยสารขาออก อาคาร SAT-1 อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) จะให้บริการผู้โดยสารขาออกที่ได้ทำการเช็กอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระ ณ อาคารผู้โดยสารหลักเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้โดยสารเดินเข้าไปในเขต Airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 Concourse D และลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT-1
2) ส่วนบริการผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องแล้ว ต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป
3) ส่วนบริการผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transit/Transfer Passenger) จะสัญจรเฉพาะระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 เท่านั้น
ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ซึ่งรวมถึงส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ และทดสอบเดินรถไฟฟ้า APM (System Demonstration) ในส่วนของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการติดตั้ง และเชื่อมต่อกับระบบเดิม โดยสำหรับรถไฟฟ้า APM จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคาร SAT-1 ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง
ด้านการออกแบบ
AOT ได้ออกแบบอาคารโดยการต่อยอดสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับอาคารเทียบเครื่องบินเดิม โดยหลังคาตรงกลางของอาคารจะถูกยกให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่นๆ เป็นลักษณะเลียนแบบการไล่ระดับหลังคาเป็นชั้น ๆในสถาปัตยกรรมไทยและภายในอาคารได้ติดตั้งประติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์ท้องถิ่นประจำชาติไทย โดยติดตั้งไว้บริเวณโถงกลางทำให้เกิดเป็นจุดหมายตาแรกของอาคาร รวมถึงห้องน้ำในบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ได้มีการออกแบบ โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
อีกทั้งยังได้นำเอาเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นในแต่ละภาค ประเพณีวัฒนธรรม เช่น ประเพณีลอยกระทง มวยไทย เป็นต้น มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่และช่วยให้ผู้โดยสารจดจำพื้นที่ง่ายขึ้น ตลอดจนมีการตกแต่งสวนประดับที่บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ให้เป็นสวนแนวตั้งเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)