19 พฤศจิกายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีน โดยนายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 7,655 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,855 ราย เสียชีวิต 55 ราย ผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 100 ราย มากกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและต้องใช้ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ พบจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น 13 จังหวัด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 100 ราย ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น สระแก้ว นครราชสีมา สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้เร่งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1)ให้หน่วยงานชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ สำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ให้ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึง 2)ให้หน่วยบริการ โรงพยาบาล อำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับการฉีด 3)ให้ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน นอกจากนี้ ได้ย้ำการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้เดินทางมาในพื้นที่เพื่อให้ประเทศกลับสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประชาชนดำเนินชีวิตในภาวะปกติได้โดยเร็ว
“ขอย้ำว่าวัคซีนปลอดภัยสูง และทุกพื้นที่ระบบการฉีดวัคซีนมีความพร้อม ขอให้ประชาชนมั่นใจ เช่น อาการแพ้รุนแรง จะมีโอกาสเกิดขึ้นช่วง 30 นาทีแรก จึงกำหนดให้พักสังเกตอาการก่อนให้กลับ ส่วนอาการปวดเจ็บ กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ที่เกิดขึ้นใน 7 วัน ส่วนใหญ่หายได้เอง แม้แต่อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีรายงานในเด็กนักเรียนบ้าง ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักภายหลังการฉีด” นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว
ทั้งนี้ ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 18 พฤศจิกายน 2564 สะสม 87,654,904 โดส ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 46,248,417 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 38,421,936 ราย และเข็ม 3 จำนวน 2,984,551 ราย
ด้านนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กล่าวถึงความก้าวหน้าการป้องกันโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์และทารก ตั้งแต่ 1 เมษายน – 12 พฤศจิกายน พบผู้ติดเชื้อที่เป็นสตรีมีครรภ์ 5,516 ราย ส่วนใหญ่พบใน กทม. ปริมณฑลและภาคใต้ ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 3,127 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอด ทารกที่คลอดติดเชื้อ 238 ราย ส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสโดยตรงหลังคลอด คิดเป็นร้อยละ 7 มีมารดาเสียชีวิต 102 ราย และทารกเสียชีวิตตามมารดา 51 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนในสตรีมีครรภ์ เข็มแรกฉีดแล้วจำนวน 86,602 ราย เข็ม 2 จำนวน 66,784 และเข็ม 3 จำนวน 1,009 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อกว่าร้อยละ 92 ไม่ได้รับวัคซีน และไม่พบการเสียชีวิตในสตรีมีครรภ์ที่ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็ม แต่มีอาการป่วยเล็กน้อยเตรียมเร่งฉีดเชิงรุกแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและบุคคลในครอบครัวเพื่อป้องกันการรับและแพร่เชื้อ