"XE" เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.1 & BA.2" ไม่ใช่ "เดลตาครอน" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง "เดลตา & โอมิครอน"
WHO ยังไม่ตั้งชื่อ "XE" อย่างเป็นทางการจนกว่า "XE" จะแสดงอาการทางคลินิกที่รุนแรงแตกต่างไปจากสายพันธุ์ุอื่นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับสายพันธุ์ลูกผสม "เดลตาครอน" หรือ "XD" นั้น WHO ให้ข้อมูลว่าไม่พบการระบาดที่รวดเร็ว (transmissibility) และอาการที่รุนแรง (severity) อย่างที่เคยกังวลแต่ประการใด
ล่าสุด
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม "XE" ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่าง
สวอปผู้ติดเชื้อชาวไทย 1 ราย (วิเคราะห์กำหนดสายพันธฺุ์ด้วยโปรแกรมประยุกต์ "PANGOLIN"
และ "NEXTCLADE" และซับมิทขึ้นไปแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID") จากการติดตามสอบถามแพทย์ผู้รักษาทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่ม "สีเขียว" มีอาการเล็กน้อย ปัจจุบันหายจากอาการโควิดแล้ว มีการสุ่มตรวจ ATK คนรอบข้างไม่พบใครติดเชื้อ
ตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกส่งมาตรวจกรอง (screening) ค้นหาสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมงเพื่อสนับสนุนการรักษาโควิด-19 แบบมุ่งเป้า (Precision medicine) ด้วยเทคโนโลยี "Massarray Genotyping" ซึ่งเป็นการตรวจรหัสพันธุกรรม 40 ตำแหน่งกลายพันธุ์สำคัญบนจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 โดยสามารถตรวจได้รวดเร็วและประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 3 หมื่นตำแหน่ง ได้พบสายพันธุ์ลูกผสม "เดลตาครอน (เดลตา & โอมิครอน)" อีก 1 ราย ซึ่งยังคงต้องยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
พบครั้งแรกใน UK
โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 โดยมีการถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมและอัปโหลดขึ้นไปแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลกแล้วมากกว่า 600 ตัวอย่าง
WHO ประเมินว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” มีอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือกว่า BA.2 ถึง 10% อย่างไรก็ตามยังต้องรอข้อมูลจากทั่วโลกที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีกระยะหนึ่งเพื่อยืนยัน”
ตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Health Services Agency) หรือ "UKHSA" ยืนยันเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า “BA.2” ประมาณ 10% และแพร่ได้รวดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43%
อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ซูซาน ฮอปกิ้นส์ หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของ UKHSA กล่าวว่าการเกิดสายพันธุ์ลูกผสมไม่ใช่เรื่องแปลกและมักจะสูญพันธุ์ไปเอง "อย่างรวดเร็ว" เนื่องจากไม่ฟิตกับสิ่งแวดล้อมเหมือนสายพันธุ์ทั่วไป และเนื่องจากจำนวนของ “XE” ที่ถูกถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมยังไม่มาก การประเมินความรวดเร็วของการระบาดอาจจะคลาดเคลื่อนได้
ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO และ UKHSA ประเมินว่าต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสายพันธุ์ลูกผสม “XE” จะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ BA.2 ได้หรือไม่
หมายเหตุ
การจัดหมวดหมู่ลูกผสมโดย Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak Lineages (PANGOLIN)
หมวด 1 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “Delta + BA.1” ประกอบด้วยสมาชิก 2 สายพันธุ์
I. XD-เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง Delta + BA.1 lineage พบในฝรั่งเศส ประกอบด้วยยีน S ที่สร้างหนามแหลม ส่วนอื่นเป็นจีโนมจากเดลตา
II. XF-จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.1 กับส่วน 5’ จากจีโนมของเดลตา
หมวด 2 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง BA.1 + BA.2 ประกอบด้วยสมาชิก 6 สายพันธุ์
I. XE-พบในอังกฤษ จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.2 กับส่วน 5’ จากจีโนมของ BA.1 แสดงอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือ BA.2 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีถอดรหัสพันธุกรรมพบแล้ว 1 ราย
II. XG-พบในเดนมาร์ก
III. XH-พบในเดนมาร์ก
IV. XJ-พบในฟินแลนด์
V. XK-พบในเบลเยียม มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" เกือบ 100 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์ ยังไม่พบในประเทศไทย