ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกสู่โรคประจำถิ่น

โควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกสู่โรคประจำถิ่น Thumb HealthServ.net
โควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกสู่โรคประจำถิ่น ThumbMobile HealthServ.net

ประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563 (องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิดเป็นโรคระบาดใหญ่ เมื่อ 11 มีนาคม 2563) จากวันนั้นถึงวันนี้ กว่า 2 ปีของการระบาด จนกระทั่งวันที่โรคโควิดได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2565


 ข้อเขียน "โควิด-19 บนเส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ โรคประจำถิ่น" โดยคุณพันธุ์ทิพา หอมทิพย์  กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโรคโควิด-19 และพัฒนาการต่างๆ จนถึงวาระที่โรคโควิดได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นบทความที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมด้วยข้อมูลอ้างอิง HealthServ จึงได้นำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้
 
  •  ลิงค์เอกสาร senate.go.th//Covid19.pdf เผยแพร่บนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
 

โควิด-19 โรคอุบัติใหม่ เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)

นับตั้งแต่เกิดการระบาด (Outbreak)[1] ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่นของสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นได้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน และหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยทำให้การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นโรคระบาด (Epidemic) เต็มรูปแบบ และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่กลายเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ที่ทั่วโลกต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว และหลายประเทศทั่วโลกกำลังรอการดำเนินมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ "โรคประจำถิ่น (Endemic)" ของโควิด-19 ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่
 
 


โรคประจำถิ่น คืออะไร

 
โรคประจำถิ่น[2] เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ไวรัสกระจายอยู่ในหมู่ประชากรโลกเป็นเวลาหลายปี แต่ระดับการค้นพบ และผลกระทบของไวรัสจะลดลงสู่ระดับที่ค่อนข้างควบคุมหรือจัดการได้ ตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่ยังพบการระบาดและการรวมตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้หมดหรือหายไปจากโลกนี้อย่างสิ้นเชิง โรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคประจำถิ่น ต้องมีอัตราการติดเชื้อไม่มากและไม่แสดงอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนครั้งแรกที่เริ่มมีการระบาด
 
อีลีนเนอร์ เมอร์เรย์ นักระบาดวิทยา จากมหาวิยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "โรคหนึ่งๆ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เมื่ออัตราการแพร่ระบาดเริ่มคงที่ ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังอีกคนหนึ่งได้ ต่างกับแรกเริ่มของการเกิดโรคระบาด ที่พบว่า ผู้ป่วย 1 คน สามารถเป็น Superspreader หรือแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนหลาย ๆ คน"
 
"นิยาม" โรคประจำถิ่น[3]
 สำหรับนิยาม โรคประจำถิ่น นั้น ทางระบาดวิทยา ให้คำนิยามระยะการระบาดของโรคเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย
 
(1) การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและการกระจายที่กว้างขวางทางพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม
 
(2) โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางหรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติ หรือมากกว่าที่เคยเป็นมา
 
(3) โรคประจำถิ่น (Endemic) การที่มีโรคปรากฏหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจาย และการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้ "โรคประจำถิ่น" และ "โรคติดต่อ" ตามกฎหมาย
 
นิยามโรคตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 25584  มาตรา 4 ประกอบด้วยบทนิยาม ซึ่งแตกต่างจากนิยามทางระบาดวิทยา คือ
 
(1) "โรคติดต่อ" หมายความว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน
 
(2) "โรคติดต่ออันตราย" หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว โรคติดต่ออันตราย ปัจจุบันมี 14 โรครวมโรคโควิด-19 เช่น โรคอีโบลา กาฬโรค ไข้เหลือง เวสต์ไนล์ ไวรัสนิปาห์
 
(3) "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจุบัน มี 55 โรค เช่น ไข้เลือดออก โรคเอดส์
 
(4) "โรคระบาด" หมายความว่า โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคย
เป็นมา 
 
 
 

เกณฑ์"โรคประจำถิ่น"


 
เกณฑ์โรคประจำถิ่น ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
(1) สายพันธุ์คงที่ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม
(2) อัตราป่วยคงที่
(3) คาดเดาการระบาดได้
 
ส่วนเกณฑ์ที่จะถือว่าเข้าข่ายโรคประจำถิ่น เช่น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ร้อยละ 80 และประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล
 
 

สิ่งที่จะเกิดเมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

 
"โรค" ยังมีการระบาดเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว ส่วน "มาตรการต่างๆ" ขึ้นอยู่กับการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็น "โรคติดต่อ" ประเภทใด ตามนิยามของกฎหมายเช่น หากกำหนดเป็น "โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง" ต้องมีการรายงานผู้ป่วย เมื่อเกิดการระบาดเจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมการระบาด แต่จะไม่มีอำนาจสั่งกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งหากเป็น "โรคติดต่ออันตราย" เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจสั่งกักตัวผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้
 
"ระบบการรายงาน" ไม่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อทุกวัน แต่จะมีการเฝ้าระวังทุกวัน และรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเป็นการเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
 
"การดูแลรักษา" กรณีที่ติดเชื้อและมีอาการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากเดิมที่ประกาศกำหนดให้ผู้ติดโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งปรับเป็นการยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ของแต่ละคนเช่น บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือประกันสุขภาพส่วนบุคคล
 
"การเข้ารับวัคซีน" ขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าการรับวัคซีนโควิด-19 จะเป็นอย่างไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการให้รับวัคซีนฟรีในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เหมือนการรับวัคซีนไข้หวัดกำรใช้ชีวิตประจำวันกับโรคประจำถิ่น [5]
 
ศาสตราจารย์มาร์ก วูลเฮาส์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อประจำมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อหาทางให้ประชาชนใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 โดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแบบที่เกิดจากการล็อกดาวน์แต่จะยังมีการคงมาตรการควบคุมโรคบางอย่างเอาไว้ 
 
ศาสตราจารย์พอล ฮันเตอร์อาจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ เชื่อว่า จะยังมีมาตรการควบคุมโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อไป แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า มาตรการคุมเข้มทางสังคมจะส่งผลน้อยกว่าที่ผ่านมา และเมื่อสภาพของโรคถึง "จุดสมดุลที่มีโรคประจำถิ่น" ปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อคือ ผู้คนสูญเสียภูมิคุ้มกันโรคไปรวดเร็วเพียงใด นอกจากนี้ศาสตราจารย์ 
 
พอล ฮันเตอร์ ยังชี้ให้เห็นว่า "ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ และความร้ายแรงของโรคจะไม่คงอยู่ตลอดไป" และมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าผู้ที่ได้รับเชื้อนั้น ได้รับเชื้อทุก 6 เดือน จะมีอาการติดเชื้อไม่รุนแรงแต่หากได้รับเชื้อทุก 5 ปี จะมีอาการป่วยหนัก
 
 
 
 

แนวคิดโรคประจำถิ่นของกรมควบคุมโรค


เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค[6] ได้แถลงแนวคิดปรับโรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Moving to COVID-19 Endemic) และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้กล่าวถึงการปรับปรุงตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อที่เริ่มนับจำนวนใหม่ 
 
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมาว่า เป็นทิศทางที่กำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดย "กรมควบคุมโรคพยายามปรับเป็นโรคประจำถิ่น และจะมุ่งเน้นเรื่องผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นหลัก" เช่น ขณะนี้
มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 110 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 2 ใน 1,000 ราย และอัตราเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 1
 
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบาย โดยใช้แนวคิด 3 ปัจจัย ทางระบาดวิทยา (Epidemiologic Triad) ว่าโรคประจำถิ่นจะเกิดจากความสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ เชื้อโรค (Agent) คน (Host) และสิ่งแวดล้อม (Environment) กล่าวคือ เชื้อโรคมีความรุนแรงลดลง ไม่ทำให้คนป่วยหนักหรือเสียชีวิต คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นโดยเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โดยมีการจัดการความเสี่ยง และเตรียมระบบสาธารณสุขและยารองรับ
 
สังเกตได้ว่า นโยบายที่ตามมาหลังจากการแถลงแนวคิดนี้คือ มาตรการ ATK First หรือการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองด้วยชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) เป็นลำดับแรก ในรายที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการไม่ต้องตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR และนำมาสู่มาตรการการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านหรือชุมชน (HomeIsolation/Community Isolation: HI/CI) ซึ่งใกล้เคียงกับการรักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมากขึ้น เพราะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนมากพักรักษาตัวและรับประทานยาที่บ้าน
 
ทั้งนี้ มาตรการที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกิน 3 เดือนและการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก ให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มีความครอบคลุมของวัคซีนมากที่สุด (เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกคือจำนวนร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร) เพราะข้อมูลจาก
 
 
สหราชอาณาจักรพบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันอาการป่วยจากโอมิครอนได้เพิ่มขึ้น และยังป้องกันอาการที่รุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ มีประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมากแล้ว เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนพบสัดส่วนผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น
 

 

"ประเภทของโรคติดต่อ"
 

ประเภทของโรคติดต่อ ตามกฎหมายปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 25587 มาตรา 4 บทนิยาม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
 
(1) "โรคติดต่ออันตราย" หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีทั้งหมดจำนวน 14 โรค[8] ได้แก่ กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออก ไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ไข้เหลือง โรคไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคซาร์ส โรคเมอร์ส วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากและล่าสุดคือ โควิด-19 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 25639
 
(2) "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทั้งหมดจำนวน 55 โรค10 เช่น กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง การติดเชื้อในโรงพยาบาล ไข้เด็งกี่ ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่คอตีบ คางทูม บาดทะยัก พยาธิใบไม้ตับ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคเท้าช้าง โรคพิษสุนัขบ้า[11]
 
(3) "โรคระบาด" หมายความว่า โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ ยังไม่เคยมีการประกาศให้โรคใดเป็นโรคระบาด[12]
 
 
 

"ระดับของโรคติดต่อ"

ระดับของโรคติดต่อ [13] แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้
 
ระดับที่ 1 เรียกว่า Endemic (โรคประจำถิ่น) คือ มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้น อย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา
 
ระดับที่ 2 คือ Outbreak (การระบาด) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว เช่น การระบาดของไข้เลือดออกในปีพ.ศ. 2562 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น
 
ระดับที่ 3 Epidemic (โรคระบาด) เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แพร่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปีพ.ศ. 2557 ถึงปี พ.ศ. 2559 การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน และมีการระบาดต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในช่วงแรก ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการได้รับการเรียกขานว่า "โควิด-19" และค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
 
ระดับที่ 4 ระดับการระบาดสูงสุด เรียกว่า Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) เป็นลักษณะของการระบาดของโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไป ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดไปอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก
 

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [15] ได้กล่าวถึงข้อสังเกตในประเด็นทางกฎหมายว่าด้วยโรค"โควิด-19" กับการปรับเปลี่ยนเป็น "โรคประจำถิ่น" ว่า ตามที่จะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อปรับระดับให้โรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" ในอีกไม่ช้า ซึ่งในความเห็นส่วนตัวนั้น คิดว่าควรทำความเข้าใจและมีข้อสังเกตเบื้องต้นในประเด็นทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างน้อย ดังนี้
 
(1) คำว่า "โรคประจำถิ่น" ไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นทางการ โดยในพระราชบัญญัติ
โรคติดต่อ พ.ศ. 2558[16] มาตรา 4 บทนิยาม จะใช้คำว่า "โรคติดต่ออันตราย" "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" และ "โรคระบาด" ซึ่งปัจจุบันโรคโควิด-19 ถูกจัดอยู่ใน "โรคติดต่ออันตราย" จากการออกประกาศ
สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อปีพ.ศ. 2563[17] และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563[18]
 
(2) จากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" โดยอยู่ในฐานะ "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" ซึ่งในทางกฎหมายมีความหมายแตกต่างจาก "โรคติดต่ออันตราย" ทั้งนี้ มีความหมายว่าโรคโควิด-19 ถูกปรับสถานะให้เป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม
 
(3) เนื่องจากก่อนหน้านี้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคโควิด-19 เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั่นหมายความว่า หากจะปรับลดสถานะของโรคให้มีความรุนแรงน้อยลง ย่อมต้องออกประกาศใหม่เพื่อยกเลิกสถานะเดิมและกำหนดสถานะใหม่ให้เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง"
 
(4) หากทำการปรับเปลี่ยนตามข้อ (3) ย่อมส่งผลต่อสิทธิตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[19] ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะได้รับการป้องกันและขจัด "โรคติดต่ออันตราย" จากรัฐโดย "ไม่เสียค่าใช้จ่าย"
 
(5) หากรัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทางกฎหมายเกี่ยวกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผลจากการ "ปรับเปลี่ยนสถานะ" ของโรคโควิด-19 จากเดิมที่เป็น "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" นี้ย่อมมีผลต่อการดำรงอยู่ของสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) ณ ปัจจุบัน ที่อยู่บนเหตุผลเดิมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 ว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายด้วย
 
กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชำติมีมติเห็นชอบแผน 4 เดือน ปรับโรคโควิด-19 ออกจำกโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎำคม 2565 เป็นต้นไป[20]
 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น ทั้งนี้ มีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์และคำนึงถึงทุกมิติ เช่น การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test & Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพ พร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเพื่อเป็นการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ
 
การเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีการจัดเตรียมแผนหลัก ๆ จำนวน 4 เดือน โดยจะมีแนวทางครอบคลุมทุกมิติเช่น เตียงผู้ป่วย การรักษาพยาบาล อัตราความรุนแรงของโรคควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษา พร้อมการเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว การให้ยาอย่างเหมาะสม ที่สำคัญการเตรียม ความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม และหากทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น จะลดความรุนแรงได้ 
 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงรายละเอียดของแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่นว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้
 
ระยะที่ 1 (วันที่ 12 มีนาคม 2565 ถึงต้นเดือนเมษายน 2565) เรียกว่า Combatting ต้องควบคุมมิให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง โดยจะมีมาตรการต่างๆ ในการดำเนินการ ส่วนการกักตัวจะลดลง
 
ระยะที่ 2 (เดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565) เรียกว่า Plateau คือการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เพื่อให้เป็นแนวระนาบและลดลงเป็นลำดับ
 
ระยะที่ 3 (ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565) เรียกว่า Declining คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือจำนวน 1,000 คน ถึง 2,000 คนและอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น
 
ส่วนรายละเอียดของแผนดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดจะมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา และคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายจำนวนประมาณ 9 ฉบับ ซึ่งสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไรจะเป็นไปตามแผนการดำเนินการและแนวทางที่กำหนดไว้ต่อไป 


 
 

ระยะดำเนินการ แผนและมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข (ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมโควิด-19)

 
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องไม่เกิน 1 ใน 1,000 คน โดยปัจจุบันเฉลี่ยร้อยละ 0.19 ถึงร้อยละ 0.2 แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตาม การตรวจพบผู้เสียชีวิต อาจไม่ใช่เพราะติดเชื้อโควิด-19 เพราะในระยะหลังผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโรคประจำตัว มีภาวะติดเตียง ไม่มีคนดูแล หรือเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงต้องปรับจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะดังกล่าวซึ่งอาจลดจำนวนลงได้ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 30 
 
ดังนั้น การคาดการณ์ว่าเชื้อโควิด-19 จะเป็น "โรคประจำถิ่น" น่าจะหมายถึงกรณีที่เชื้อโควิด-19 จะไม่หายไป แต่จะกลายเป็นโรคติดเชื้อตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ ส่วนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อใดนั้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือองค์การอนามัยโลกจะต้องกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาก่อน
 
แต่ถ้าอ้างอิงจากไข้หวัดใหญ่ การลดระดับเป็น "ระยะหลังการระบาดใหญ่"(Post-pandemic) ประเทศส่วนใหญ่ต้องมีผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าจุดสูงสุด และเชื้อที่ระบาดต้องมีคุณสมบัติเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล [23] สถานการณ์และนโยบำยล่ำสุดของรัฐบาลประเทศต่างๆ [24]
 
ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และล่าสุด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศมีแนวคิดอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 และรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
 
(1) ประเทศฝรั่งเศส "ใช้โฮมไอโซเลชั่น" (Home Isolation)
ฌ็อง กัสแต็กซ์ นายกรัฐมนตรีประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ช่อง France2 โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญต่อสู้กับการระบาดครั้งใหม่ ถึงแม้อัตราการแพร่ระบาดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องกักตัว กินยาเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แล้วรอตรวจผลใหม่ให้เป็นลบ ในขณะที่วุฒิสภาฝรั่งเศสมีมติรับรองมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ฉบับแก้ไขในวันที่ 13 มกราคม 2565 โดยได้ครอบคลุมถึงการออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนจะต้องแสดงบัตรผ่านวัคซีน (Vaccine Pass) ในสถานที่สาธารณะ ท่ามกลางประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย หลังจากที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีนประธานาธิบดีมาครง และสมาชิกพรรค La Republique En Marche เร่งออกมาตรการกระตุ้นผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับการระบาดครั้งที่ 5 ซึ่งปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนแล้ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.6 ของประชากรในประเทศ
 
(2) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ "อาจเริ่มต้นเปลี่ยนผ่ำนโรคประจำถิ่น"
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เอเลียน เบอร์เซต รัฐมนตรีสาธารณสุขสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปยังระยะที่ประเทศต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อาจอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากช่วงแพร่ระบาดใหญ่ ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ความคิดเห็นของเบอร์เซตเกิดขึ้น หลังจากที่ เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรี ประเทศสเปน ออกมาเรียกร้องเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ให้จัดการกับวิกฤตการณ์ระบาดใหญ่ในปัจจุบันโดยมีความเห็นว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่การเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
(3) ประเทศสเปน "เรียกร้องให้สหภำพยุโรป (European Union: EU) ปรับนโยบายในการบริหารจัดการโรคโควิด-19"
เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรีประเทศสเปน กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) ควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการรักษาโรคโควิด-19 เป็นอาการเจ็บป่วยแบบโรคประจำถิ่นแทนที่โรคระบาดหรือปรับเป็นการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดที่ใช้โมเดลไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันนี้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตต่ำกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้ทั่วภูมิภาคยุโรปต้องทบทวนนโยบายใหม่ 
 
(4) สหราชอาณาจักร "เฝ้าติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น แต่มีอาการป่วยไม่รุนแรง"
นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สหราชอาณาจักร กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี(BBC) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565 ว่า สหราชอาณาจักร กำลังดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปสู่ "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงลอนดอนลดลง ทำให้เกิดความหวังว่าการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนจะอยู่ในภาวะลดจำนวนลง ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็น 4,300,000 คน ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565 โดยเพิ่มขึ้นจาก 3,700,000 คน ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้และมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดที่ 1 ใน 15 คน ส่วนในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของสหราชอาณาจักร มีอัตราการติดเชื้อลดจำนวนลงจาก 1 ใน 10 คน เหลือ 1 ใน 15 คน ขณะที่ปัจจุบันเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหราชอาณาจักรได้แก่ยอร์คเชียร์ และฮัมเบอร์ มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1 ใน 10 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19

(5) ประเทศโปรตุเกส "ผ่อนคลายข้อจำกัดโควิด-19 ท่ามกลางการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก"
อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศโปรตุเกส เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศให้ผ่อนคลายข้อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เริ่มเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งอนุญาตให้เปิดร้านอาหาร ผับ บาร์และโรงภาพยนตร์กับผู้มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ นอกจากนี้ ยังเลิกนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ขณะที่ประเทศโปรตุเกสบันทึกผู้ติดเชื้อโควิด-19รายใหม่ จำนวน 40,945 ราย เมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 สร้างสถิติใหม่สำหรับการติดเชื้อรายวันและทำให้ยอดสะสมรวม 1,734,343 ราย
 
(6) ประเทศเดนมาร์ก "กลับสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป"
รัฐบาลเดนมาร์กเตรียมเสนอให้เปิดโรงภาพยนตร์และพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 24,343 ราย ส่งผลให้ยอดรวมสะสมจำนวน 1,030,000 ราย แม้ประเทศเดนมาร์กจะประกาศปิดสถานที่ท่องเที่ยวไปก่อนวันคริสต์มาสเพื่อหยุดการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะมีอาการป่วยรุนแรงน้อยลง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของประเทศเดนมาร์กแนะนำให้ กลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมตต์ เฟรเดอริคเซ่น นายกรัฐมนตรีประเทศเดนมาร์ก สนับสนุนข้อแนะนำดังกล่าว โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโคเปนเฮเกนว่า คาดว่ารัฐบาลจะประกาศนโยบายดังกล่าวโดยรอเพียงการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก
 
(7) ประเทศสหรัฐอเมริกา "ใกล้เกณฑ์อยู่ร่วมกับโควิด-19"
นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะกำจัดไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมีแนวโน้มกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ใหม่ และจะระบาดในกลุ่มผู้ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากขณะนี้ การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นสลับกับลดลงไม่แน่นอน โดยหวังว่าประเทศจะเข้าสู่ระยะใหม่ และสามารถป้องกันการติดเชื้อในชุมชน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และเชื่อว่าขณะนี้อาจจะอยู่ในเกณฑ์อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ปัจจุบันมีการบันทึกผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนประมาณ 1,000,000 คนต่อวัน และผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีจำนวนประมาณ 150,000 คน ทั้งนี้ โดยจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แสดงถึงนัยสำคัญมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19
 
 
สำหรับผู้เขียนบทความมีความเห็นว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในลักษณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ แต่จะกลายเป็นโรคติดเชื้อตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ ส่วนจะปรับเป็นโรคประจำถิ่นได้เมื่อใดนั้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือองค์การอนามัยโลกจะเป็นหน่วยงานที่กำหนดหลักเกณฑ์ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศนั้น ๆ และการให้ความร่วมมือจากประชาชนด้วยแต่หากอ้างอิงจากไข้หวัดใหญ่ การลดระดับเป็น "ระยะหลังการระบาดใหญ่" (Post-pandemic) ต้องมีผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าจุดสูงสุด และเชื้อไวรัสที่ระบาดต้องมีคุณสมบัติทำนองเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไรก็ดี ไม่ว่า "โควิด-19" จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือนำออกจากบัญชีโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประชาชนก็ยังควรที่จะต้องระมัดระวังมิให้มีการติดเชื้อดังกล่าว เพื่อสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขพึงให้บริการด้วยการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่มีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 47 ดังกล่าว และตามความเหมาะสมกับสภาพของโรค รวมทั้งบริบทต่าง ๆ ของประเทศและสังคมโดยรวมต่อไป
 
 
นางสาวพันธุ์ทิพา หอมทิพย์
วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักนกฎหมาย

 
  • ลิงค์เอกสาร senate.go.th//Covid19.pdf เผยแพร่บนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
 

อ้างอิง

[1] ปฐมพร ปู่ปัญจะ และคณะ, COVID-19 ในประเทศไทยใกล้จะเป็น "โรคประจำถิ่น" หรือยัง, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://tdri.or.th/2021/11/when-will-covid-be-endemic-in-thailand/.

[2] TNN Health, เมื่อ WHO ระบุว่า โควิด-19 กำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นและคาดว่า การแพร่ระบาดยุติลงในปี 2565 แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรและเมื่อไหร่ว่าโควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดที่น่ากังวลอีกต่อไป, 7 มกราคม 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 https://news.trueid.net/detail/7ob9ewEBO03m.
 
[3] สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อ "โควิด-19" เป็น "โรคประจำถิ่น", กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 5 กุมภาพันธ์ 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/social/986659.

[4] พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558, น. 26 เล่มที่ 132 ตอนที่ 86 ก ราชกิจจานุเบกษา, 8 กันยายน 2558, สืบค้น

[5] โควิด : ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรเมื่อไวรัสโคโรนากลายเป็นโรคประจำถิ่น, BBC NEWS, 13 มกราคม 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://www.bbc.com/thai/international-59969774.
 
[6] นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก, "โรคประจำถิ่นหมายความว่าอย่างไร และโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่," 10 มกราคม 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://thestandard.co/key-messages-endemic-disease/. 
 
[7] โปรดดูเชิงอรรถที่ 4.
 
[8] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559, เล่ม 133 ตอนพิเศษ 128 ง น. 3, ราชกิจจานุเบกษา,3 มิถุนายน 2559, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/128/3.PDF.
 
[9] โรคประจำถิ่นคืออะไร และประเภทของโรคติดต่อตามกฎหมาย, THE STANDARD, 31 มกราคม 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565, https://thestandard.co/endemic-disease-and-legal-type-of-infectious-disease/.
 
[10] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2562, เล่ม 137 ตอนพิเศษ 20 ง น. 2,ราชกิจจานุเบกษา, 27 มกราคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565,  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/020/T_0002.PDF.
 
[11] โปรดดูเชิงอรรถที่ 9.
 
[12] โปรดดูเชิงอรรถที่ 9.
 
[13] โควิด "โรคประจำถิ่น" ถึงเวลาเร่งปิดเกมพิษระบาดหรือยัง, ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, 1 กุมภาพันธ์ 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://www.thansettakij.com/insights/512303.
 
[14] โปรดดูเชิงอรรถที่ 9.
 
[15] อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยกรัฐธรรมนูญอธิบาย ชี้หากปรับสถานะโควิด รัฐบาลต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน, มติชนออนไลน์, 13 กุมภาพันธ์ 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565,  https://www.matichon.co.th/politics/news_3182463.
 
[16] โปรดดูเชิงอรรถที่ 4.
 
[17] ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร, เล่ม 137 ตอนพิเศษ 69 ง น. 1 ราชกิจจานุเบกษา, 25 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565,  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/069/T_0001.PDF.

[18] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563, เล่มที่ 137 ตอนพิเศษ 48 ง น. 1, ราชกิจจานุเบกษา, 29 กุมภาพันธ์ 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม2565,  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/048/T_0001.PDF
 
[19] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก น. 1 ราชกิจจานุเบกษา, 6 เมษายน 2560, สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF. 

[20] นับถอยหลัง 1 ก.ค. ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น, Thai PBS News, 9 มีนาคม 2565, 
https://news.thaipbs.or.th/content/313473.
 
[21] โปรดดูเชิงอรรถที่ 20.
 
[22] เรื่องเดียวกัน.

[23] 1 กรกฎาคม 2565 ปิดเกมโควิด ปรับเป็น "โรคประจำถิ่น" จัดแผน 4 ระดับ 4 เดือน, คมชัดลึกออนไลน์, 10 มีนาคม 2565, สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565, https://www.komchadluek.net/covid-19/507987.

[24] โควิดบนเส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ "โรคประจำถิ่น" ในประเทศไหนบ้าง, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 14 มกราคม 2565, สืบค้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/world/982486.
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด