17 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย ขณะนี้พบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนกลายพันธุ์ใหม่ และรายงานในหลายประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ สายพันธุ์ XBB ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วย 2 รายเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ
รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 และวันรุ่งขึ้นเริ่มมีอาการ ไอ คัดจมูก ไม่มีไข้ ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้ทำการตรวจด้วย ATK พบผลบวก จึงเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งและรับยากลับมารักษาตัวที่บ้านจนครบกำหนด ขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว
รายที่ 2 เป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง มีอาการไอ ไม่มีไข้ ตรวจด้วย ATK พบผลบวก วันที่ 28 กันยายน 2565 จึงเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน และรับยากลับมาพักรักษาตัวอยู่ในห้องพักโรงแรมนาน 10 วัน ขณะนี้ทั้ง 2 รายหายจากอาการป่วยโควิด 19 แล้ว และได้เดินทางต่อไปยังต่างประเทศแล้ว
“แม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด19 ในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิต โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเสียชีวิต 53 ราย เฉลี่ยวันละ 7 ราย/วัน ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่ม 608 และมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่ฉีดวัคซีน และจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากไวรัสกลายพันธุ์ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนมาแล้วเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือนไปรับวัคซีนโดยเร็ว แม้วัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการติดโควิด 19 ได้ทั้งหมด แต่วัคซีนมีประสิทธิผลเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าสามารถช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างดี” นายแพทย์ธเรศกล่าว
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินนานาชาติในภูมิภาค ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากสิงคโปร์และฮ่องกง ตลอดจนประเทศที่มีรายงานการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ XBB หากผู้เดินทางจากพื้นที่ดังกล่าวมีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิสามารถแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อขอรับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ฟรี ทั้งนี้ แนะนำผู้โดยสารสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างการเดินทาง นำชุดตรวจ ATK ติดตัวไปพร้อมสำหรับตรวจเมื่อมีอาการในต่างประเทศ รวมทั้งขอรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนการเดินทางหากครบกำหนดฉีดแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกช่วงวัย ล่าสุดได้จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง สำหรับเด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี มาให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา วัคซีนดังกล่าวสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นในวันเดียวกัน จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองที่ใส่ใจนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้ที่สถานพยาบาลทั่วประเทศ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
กรมวิทย์ฯ รายงานสถานการณ์สายพันธุ์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้โควิด 19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จากการตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม - 14 ตุลาคม 2565 จำนวน 128 ราย เป็นโอมิครอนทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มของ BA.4/BA.5 126 ตัวอย่าง ซึ่ง BA.5 พบมากที่สุด ส่วน BA.2 พบเล็กน้อยเพียง 2 ตัวอย่าง และไม่พบ BA.2.75
ทั้งนี้เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ว่ายังไม่มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลสายพันธุ์ใหม่ มีเฉพาะที่ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามสายพันธุ์ต่างๆ ที่แตกย่อยมาจากโอมิครอน เช่น BA.5, BA.2.75, BJ.1, XBB, BA.2.3.20 และ BA.4.6 ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยบางตัวพบในประเทศไทยแล้ว
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า มีการกลายพันธุ์ของโอมิครอนไปมากมาย โดยเฉพาะตำแหน่งที่อยู่บนโปรตีนหนาม (spike protein) ที่จะไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เชื้อมีความได้เปรียบในการเติบโต/แพร่ระบาด สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อได้ หากกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมากเท่าไหร่ โอกาสแพร่กระจายที่จะมาแทนที่ตัวเดิมก็จะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การกลายพันธุ์ของประเทศไทยนั้น กรณี BA.2.75 และ BA.2.75.x จากฐานข้อมูล GISAID มีรายงานแล้วรวม 19 ราย และขณะนี้พบตระกูลลูกหลาน ได้แก่ BA.2.75.1, BA.2.75.2, BA.2.75.3 และ BA.2.75.5 เพิ่มอีก 11 ราย รวมแล้วประมาณ 30 ราย
ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ XBB ในประเทศไทยขณะนี้พบจำนวน 2 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง ระหว่างกักตัวผู้ป่วยไม่มีอาการไอ ไม่มีไข้ ส่วนรายที่ 2 เป็นคนไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ มีอาการไอ คัดจมูก มาตรวจจึงทำให้พบเชื้อ และมีอาการไม่มาก ซึ่งทั้ง 2 รายหายเป็นปกติแล้ว โดยข้อมูลพันธุกรรมของสายพันธุ์ XBB ที่พบในประเทศไทย อยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID
ส่วนสายพันธุ์ BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 ซึ่งพบ BF.7 ในไทยแล้ว 2 ราย เป็นชายต่างชาติอายุ 16 ปี มีอาการไอ เจ็บคอเล็กน้อย ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทยอายุ 62 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยทั้งคู่ไม่ได้มีอาการรุนแรงและหายเป็นปกติแล้ว และทั่วโลกมีรายงานพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BF.7 จำนวน 13,911 ราย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งข้อมูลไป GISAID ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 แต่ตอนนั้นยังจัดเป็นสายพันธุ์กลุ่ม BA.5 จนต่อมามีการแตกสายพันธุ์ออกมา นอกจากนี้ ไทยยังเจอสายพันธุ์ BN.1 หรือ BA.2.75.5.1 จำนวน 3 ราย จากฐานข้อมูล GISAID ทั่วโลกพบ 437 ราย และพบเพิ่มเติมในไทยจำนวน 7 ราย (อยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID) ส่วน BQ.1.1 ยังไม่พบในไทย
“สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นใหม่ และพบในประเทศไทยแล้ว คือ BA.2.75.2 มี 8 ราย BN.1 มี 10 ราย BF.7 มี 2 ราย และ XBB อีก 2 ราย แต่ส่วนใหญ่คนติดเชื้อยังเป็น BA.5 แต่ขอย้ำว่าประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะตระกูลโอมิครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งหากมีอาการก็ขอให้ตรวจหาเชื้อ จะได้ลดการแพร่เชื้อ ดังนั้นมาตรการที่ใช้อยู่ คือ การสวมหน้ากาก โดยเฉพาะการไปอยู่ในที่คนจำนวนมาก และการล้างมือ รวมทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4-6 เดือนไปแล้วขอให้มาฉีดกระตุ้น” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยรอบในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม - 15ตุลาคม 2565 มีผู้ติดเชื้อ 2,234 ราย ปอดอักเสบ 371 ราย ใส่ท่อหายใจ 203 ราย และเสียชีวิต 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และไม่ฉีดวัคซีน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์หลังลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเสียชีวิต ลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศแถบยุโรปและสิงคโปร์ เริ่มมีสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หลายประเทศบริหารจัดการโรคโควิด 19 แบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น
ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาล และสถานที่เสี่ยง เพื่อตรวจจับการระบาด รวมทั้งการตรวจหาสายพันธุ์กลายพันธุ์ด้วย นอกจากนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 และเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยคงระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคสูงต่อเนื่อง” นายแพทย์จักรรัฐ กล่าว
ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ด้าน ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ต่อด้วยฤดูหนาว อาจทำให้ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดมากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจ ATK เบื้องต้นก่อนพบแพทย์ เพราะช่วงนี้มีไข้หวัดอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลส่งตัวอย่างเชื้อ กลุ่มอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ผู้ที่มาจากต่างประเทศแล้วป่วย กลุ่มคลัสเตอร์ กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายยังไม่เกิน 3 เดือน แต่มีอาการป่วยจากโควิด และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ มายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ