นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพบโควิด 19 สายพันธุ์ BQ.1 เป็นรายแรกในไทยว่า ผู้ติดเชื้อ BQ.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย จำนวน 1 ราย เป็นชายชาวต่างชาติ อายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน เมื่อป่วยได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สิงหาคม 2565 ไม่มีอาการมาก ปัจจุบันหายแล้ว ต่อมาทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างมาตรวจทางห้องปฏิบัติการและสุ่มตรวจสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างดังกล่าว จากนั้นส่งเข้าฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่ 21 กันยายน 2565 ซึ่งในขณะนั้นยังถูกจัดเป็นสายพันธุ์ BE.1.1 เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ BA.5.3 ต่อมาเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ได้ถูกปรับเป็นสายพันธุ์ BQ.1
"เมื่อส่งข้อมูลฐานข้อมูล GISAID ตอนแรกอาจถูกกำหนดเป็นสายพันธุ์หนึ่ง เมื่อมีข้อมูลมากพอก็อาจถูกเปลี่ยนเป็นอีกสายพันธุ์ได้ ซึ่งการจัดกลุ่มสายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอด เนื่องจากมีข้อมูลในฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เช่น ตอนแรกเป็นสายพันธุ์ BE แต่พอมีการส่งข้อมูลมามากขึ้นก็อาจจะเห็นว่าไม่น่าใช่ เพราะมีบางส่วนที่ต่างออกไป คือ ตำแหน่ง N406K และมีแบบนี้เหมือนกันมากขึ้น จึงปรับให้เป็นตัวใหม่กลายเป็น BQ ทำให้เรียกชื่อเปลี่ยนไป อย่างก่อนหน้านี้ที่พบ BF.7 ก็เป็นการเปลี่ยนชื่อเช่นเดียวกัน" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สายพันธุ์ BQ.1 เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ BA.5 ที่องค์การอนามัยโลก ระบุเป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าจับตามอง อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทย ได้ปรับลดระดับลงมา แต่ระบบเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ของประเทศยังคงดำเนินการอย่างเข้มงวด หากพบการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ต้องจับตามอง ระบบเฝ้าระวังจะสามารถตรวจจับได้
“เมื่อถามว่าสายพันธุ์ BQ.1 มีอัตราการแพร่เร็วและรุนแรงหรือไม่นั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้ ขอใช้ชีวิตโดยการป้องกันตนเองตามปกติ เน้นย้ำว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4-6 เดือนไปแล้วขอให้มาฉีดกระตุ้น เมื่อใดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการป้องกันตนเองทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้ทุกสายพันธุ์" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว