ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ไขข้อเท็จจริง เดลตาครอน

ไขข้อเท็จจริง เดลตาครอน HealthServ.net
ไขข้อเท็จจริง เดลตาครอน ThumbMobile HealthServ.net

โควิดตัวใหม่ "เดลต้าครอน XBC" สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง เดลตา และ โอมิครอน มาถึงไทยแล้ว (พบแล้ว 1 คน) - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และข้อมูลจากศูนย์จีโนม (Center for Medical Genomics) มาร่วมไขข้อเท็จจริง เดลตาครอน โควิด19 กับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตัวนี้

 
การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส เกิดขึ้นได้จากการค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย ด้วยการเปลี่ยนพันธุกรรม และทำให้สร้างกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์จากแอลฟา เบตา เดลตา โอมิครอน เปลี่ยนแปลงบนยีนของหนามแหลม spike  ทำให้ระบบภูมิต้านทานเปลี่ยนแปลง โอมิครอนยังเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยไปเป็นลูกหลาน BA.1 BA.2…BA.5.. เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย ก็ยังเป็นโอมิครอนอยู่ สายพันธุ์โอมิครอน อยู่นานมากอยู่มา 1 ปีแล้ว การแยกสายพันธุ์ ดังแสดงในรูป ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มของสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดของไวรัส ที่ผ่านมาตัวที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว ความรุนแรงน้อย ก็จะอยู่รอด และเกิดสายพันธุ์ใหม่ เรื่อยมา อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงมาโดยตลอด
 
การเปลี่ยนแปลงชนิดที่ 2 เป็นการแลกชิ้นส่วนต่างสายพันธุ์ หรือผสมส่วน ที่เรียกว่า recombination เราพบได้เห็นในไวรัสหลายชนิดเช่น ไวรัสที่ทําให้เกิดโรคมือเท้าปาก ไวรัสท้องเสีย norovirus เกิดได้จากการที่มีไวรัส 2 สายพันธุ์ติดเชื้อในผู้ป่วยคนคนเดียวกัน แล้วไปแลกชิ้นส่วนกัน เกิดเป็นลูกผสม หัวเป็น สายพันธุ์หนึ่ง หางเป็นสายพันธุ์หนึ่ง 
 
ดังนั้น เดลตาครอน จะเกิดได้ จะต้องมีผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ร่วมกับ โอมิครอน จึงจะเกิดลูกผสม เดลตาครอน แต่ขณะนี้ แทบจะไม่พบสายพันธุ์เดลต้า จะเกิดลูกผสม เดลตาครอนได้อย่างไร เมื่อไม่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ คิดแบบง่ายๆ
 
มีการพูดถึงเดลตาครอน จะเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนคล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตา ในสายพันธุ์ โอมิครอน เชื่อว่าไม่ได้เป็นการแลกชิ้นส่วนกัน และตั้งชื่อเป็น XBC และทางองค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้มีการกำหนดชื่อใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็น เดลตาครอน หรือให้ความสำคัญแต่อย่างใด ตอนนี้ก็ยังมีแต่แอลฟา เดลตา โอมิครอน และมีสายพันธุ์ย่อยการที่เราคุ้นหูกัน 
 
ใครจะเรียก เดลตาครอน ขณะนี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร การรายงานเข้าไปในธนาคารรหัสพันธุกรรม GISAID สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เด่นอะไรเลย และไม่มีความสำคัญในขณะนี้ไม่ว่าในอัตราการแพร่กระจายที่พบ หรือความรุนแรงที่พบ 
 
สายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลกขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน BA.2.75 และ BQ.1.1 บ้านเราขณะนี้เป็น BA.2.75 และก็คงจะตามมาด้วย BQ.1.1 ในอนาคตอันใกล้ ดังแสดงในรูปของ GISAID


โควิด 19  การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ไขข้อเท็จจริง เดลตาครอน
ยง ภู่วรวรรณ
30 พฤศจิกายน 2565
 

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย

 
กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย ปัจจุบันผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติแล้ว ส่วนโอมิครอน BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็น 63.3% จาก 42.9% ย้ำยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น 
 
วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อมูล การตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบ จากผู้เดินทางเข้าประเทศ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2565 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 299 ราย พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 42.9% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 23.2% เป็น 43.9% และล่าสุดเป็น 58.8% 
 
จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย (จำนวนนี้รวมจำนวน 216 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID) โดยพบว่า BN.1 และลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่
 
 
 
นอกจากนี้พบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว จำนวน 1 ราย ทั้งนี้สายพันธุ์ XBC เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID จำนวน 153 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น โดยในรายของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBC เป็นรายแรกของไทยนั้นปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว
 
  
 
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์ พบว่า 
• BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1%
• BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0% 
• BA.2 และสายพันธุ์ลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
• BA.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบน้อยกว่า 1% 
• BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%) 
• XBB (สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75) และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%) 
 
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ที่อาจมีต่อความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข หรือคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัส หรือ แอนติบอดีสังเคราะห์ ในช่วงเวลานี้มาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ยังจำเป็น เพื่อลดการระบาดของโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว



 

กรมควบคุมโรคยืนยันพบผู้ป่วยเดลตาครอน (XBC) รายแรกในไทย

 
 
          1 ธันวาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ 47 (วันที่ 20-26 พ.ย. 65) พบผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,914 ราย เฉลี่ย 702 รายต่อวัน และผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 74 ราย เฉลี่ย 10 ราย/วัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์หลังจากโรคโควิด 19 ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และประชาชนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
 
          กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน สถานที่เสี่ยง และผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้พบผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลปทุมธานี  เป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี หลังตรวจพบการติดเชื้อโควิด 19 ด้วย ATK จากที่บ้าน และได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ตามแนวทางการเฝ้าระวังโรค เป็นสายพันธุ์เดลตาครอน (XBC) รายแรกของประเทศ ผู้ป่วยรายนี้ได้รับวัคซีนแล้วรวม 3 เข็ม (Astra-Zeneca 2 เข็มแรกเมื่อปี 2564 และวัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 เมื่อกุมภาพันธ์ 2565) ไม่มีอาการป่วยรุนแรง ขณะนี้หายดีแล้ว
 
          นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำมาตรการที่สำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป และกลุ่ม 608 ให้ไปรับวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 4 เข็ม และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4-6 เดือน ให้รีบไปฉีดวัคซีนเข็มถัดไป เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสการเสียชีวิตจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ที่พบในขณะนี้ สามารถไปรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศ และสำหรับผู้ที่ไปทำกิจกรรมในพื้นที่แออัด ใช้บริการในสถานที่สาธารณะ โดยสารขนส่งสาธารณะ ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะจากผู้อื่น ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้สังเกตอาการตนเอง และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการมากขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1422

 

 
 



Center for Medical Genomics


“เดลตาครอน” จะเบียดโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.2.75, BA.5 และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB, BQ.1 (ที่มีระบาดในไทยมาก่อนหน้า) เข้ามาก่อปัญหาได้หรือไม่?  คำตอบจากรหัสพันธุกรรมคือเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย
ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” ที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "เดลตาครอน" พบระบาดในฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย!  ทั้งยังพบแพร่ติดต่อหลายประเทศในอาเซียน แต่ยังไม่พบอาการที่รุนแรง
 
เดลตาครอนสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” ทั่วโลกพบประมาณ 4 สายพันธุ์หลัก ปริมาณแต่ละสายพันธุ์อยู่ในระดับหลักร้อย คือ 
1. XAY และสายพันธุ์ย่อย XAY.1,XAY.2
2. XBA
3. XBC และสายพันธุ์ย่อย XBC.1,XBC.2,และ XBC.3 
4. XAW  
 
แม้ว่า XBC มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าเดลตาครอนสายพันธุ์ลูกผสมอื่น   แต่มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดใกล้เคียงกับ BA.5, BA.2.75, XBB และ BQ.1 ดังนั้นจึงไม่ง่ายนักที่เดลตาครอน XBC จะระบาดแซงหน้าบรรดาไวรัสโคโรนาที่มีการระบาดในประเทศไทยมาก่อนหน้า (BA.5,BA.2.75,XBB,XBB.1,BN.1,BF.7, BQ.1,BQ.1.1.10, CH.1.1)
จากการทดลองในหลอดทดลองพบว่า 
 
ยาฉีดแอนติบอดีสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เช่น อีวูชิลด์(Evusheld) สามารถเข้าจับและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์ BA.5, BA.2.75, BN.1 และ เดลตาครอน XBC ได้ แต่สำหรับสายพันธุ์ XBB,XBB.1,BQ.1,BQ.1.1 พบว่าดื้อต่อแอนติบอดีสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เกือบทุกชนิด
 
จากข้อมูลจากฐานข้อมูลโควิดโลก “กิสเสด (GISAID)” พบเดลตาครอนสายพันธุ์ลูกผสมทั่วโลก
1. เดลตาครอน XAY และสายพันธุ์ย่อย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5ประมาณ 38%
XAY   พบจำนวนประมาณ 30 ราย    
XAY.1. พบจำนวนประมาณ 20 ราย
XAY.2 พบจำนวนประมาณ 20 ราย
 
2. XBA จำนวนประมาณ 6 ราย ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด น้อยกว่า BA.5ประมาณ -15%
 
3. เดลตาครอน XBCและสายพันธุ์ย่อย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 45%
XBC จำนวนประมาณ 25 ราย
XBC.1 จำนวนประมาณ 147 ราย
XBC.2 จำนวนประมาณ 132 ราย
XBC.3 จำนวนประมาณ 170 ราย
 
4. เดลตาครอน XAW มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 1%
XAW จำนวนประมาณ 48 ราย
XBC มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5 และ BA.2.75 ประมาณ 18% และ 35%
XBB มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า XBC ประมาณ 41% 
BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า XBB ประมาณ 9% 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด