ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความคืบหน้าวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย โดย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ก่อนให้บริการประชาชน ส่วนการได้วัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดสจากซิโนแวค ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็วๆนี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
“รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนโควิด 19 จากซิโนแวค กรมควบคุมโรคได้แสดงความต้องการใช้ไปยังองค์การเภสัชกรรมให้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย พร้อมทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย.ด้วย เนื่องจากซิโนแวคไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยจะขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาท” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศจีนจะส่งวัคซีนมาถึงไทยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ล็อตแรก 2 แสนโดส เดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และเมษายนอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากแอสตราเซนเนกาอีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป และเมื่อดำเนินการได้ดีจะเจรจาขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซนเนกาอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส จะครอบคลุมประชาชนประมาณ 30 กว่าล้านคน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของประเทศไทยได้ เป็นเป้าหมายและแผนงานที่ดำเนินงานไว้ การดำเนินงานถือว่าก้าวหน้าเป็นไปตามแผน
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดของโรคในชุมชนไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 100% หลักการคือฉีดเพื่อให้สังคมและชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาระดับหนึ่ง ประมาณ 60-70% จะลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อลง จนหยุดการแพร่ระบาดในชุมชนได้ แต่ในระดับบุคคลอาจพบผู้ป่วยบ้าง แต่จะไม่เกิดการระบาดในชุมชน ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 ที่มีการฉีดในต่างประเทศ ยังไม่มีของบริษัทใดที่ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 อย่างครบถ้วน แต่ที่ประเทศไทยต้องจัดหาวัคซีนเข้ามาก่อนนั้น เนื่องจากหากรอให้มีผลการทดลองครบถ้วนแล้วมาเจรจาจัดซื้ออาจสายเกินไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย จะพิจารณาจากคุณสมบัติของวัคซีน ราคา จำนวนที่จะขายให้ได้ และเวลาที่จะส่งมอบ ซึ่งการซื้ออาจต้องรอวัคซีนส่งมานาน 6 เดือน 8 เดือน หรือเป็นปี ซึ่งไทยได้หาทางเลือกเจรจาวัคซีนหลายชนิด แต่ไม่เกิน 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการขนส่งและการฉีด ซึ่งทั้งหมดผ่านกลไกการพิจารณาอย่างเป็นระบบ รอบคอบ และถี่ถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบก่อนนำมาฉีด
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟประเมินว่าวัคซีนโควิด 19 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีจำกัด ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการให้วัคซีน คือ การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีน คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด ฉีดคนละ 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน ทั้งนี้ การพิจารณากลุ่มเป้าหมายและแผนการฉีดจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 11 มกราคม 2564 หากเห็นชอบจะได้ดำเนินการหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ จะพิจารณาเรื่องสถานบริการ บุคลากร และระบบการกระจายวัคซีน รวมทั้งระบบการลงทะเบียนผู้ป่วยต่อไปด้วย
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการกระจายวัคซีนนั้น ประเทศไทยมีระบบคลังวัคซีนใหญ่ 2 แห่ง คือ กรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีระบบควบคุมอุณหภูมิความเย็นอย่างต่อเนื่อง ไปยังโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 11,000 แห่ง เพื่อให้ผู้ที่มีเกณฑ์ได้รับวัคซีนเข้ารับบริการใกล้บ้านมากที่สุด ส่วน กทม.จะมีศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ โรงเรียนแพทย์และภาคเอกชน โดยจะมีการอบรมเรื่องการฉีดวัคซีน การเก็บวัคซีน การเตรียมจุดบริการ ระบบการขึ้นทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชันและให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สำรวจประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้บริการได้อย่างครบถ้วน ติดตามให้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน ซึ่งจะติดตามผู้ได้รับวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตามหลักมาตรฐานสากล
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด 19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขึ้นทะเบียนนั้น พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์ มีประสิทธิผล 95% โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน ,วัคซีนของโมเดอร์นา มีประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน ,วัคซีนของแอสตราเซนเนกา มีประสิทธิผล 62-90% ขึ้นกับปริมาณการฉีด โดยฉีด 2 โดสห่างกัน 28 วัน ,วัคซีนของรัสเซีย มีประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14-21 วัน ส่วนวัคซีนของซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน โดยวัคซีนทั้ง 5 ตัวได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78% ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ร่วมกันศึกษาวัคซีนเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการพิจารณาจองซื้อและจัดหาแหล่งวัคซีน ซึ่งการจองซื้อกับบริษัทแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดสนั้น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี สามารถส่งต่อวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้ต่อไป
นพ.นครกล่าวว่า ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิด อาจมีอาการทั่วไป เช่น ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้นเป็นข้อสังเกตได้ว่าการใช้วัคซีนในช่วงเกิดการระบาดนี้เป็นการใช้ในภาวะเร่งด่วน และได้ทำการศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งหากมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เช่น 1 ล้านโดส ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ยากในรูปแบบอื่นๆ อาจปรากฏขึ้นได้ ดังนั้น วัคซีนทุกตัวต้องเก็บข้อมูลเพื่อดูความปลอดภัยไปพร้อมกัน จะทำให้ทราบข้อมูลและระมัดระวัง เพื่อการหยุดยั้งการระบาดของโรค ลดอัตราป่วย และเสียชีวิต ส่วนการเก็บรักษาวัคซีนมีความแตกต่างกันไปบ้าง เช่น อุณหภูมิ เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ในประเทศไทย