ถามตอบเรื่องโรคไวรัสซิกา
ถาม: โรคติดเชื้อไวรัสซิกาติดต่อผ่านทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่
ตอบ: โดยทั่วไปโรคนี้จะมียุงเป็นพาหนะนำเชื้อมาสู่คน อย่างไรก็ตามไวรัสซิกาสามารถแยกเชื้อได้ในน้ำอสุจิ และสามารถติดต่อผ่านเลือดได้ แต่พบได้น้อย ยังต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
ถาม: โรคไวรัสซิกาถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้หรือไม่
ตอบ: ยังคงมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยสำหรับไวรัสซิกา แต่มีรายงานการติดต่อจากแม่สู่ทารกในเชื้อไวรัสอื่นที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นต้น
ถาม: โรคไวรัสซิกานี้ทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่
ตอบ: ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่าการติดเชื้อโรคไวรัสซิกาทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม มีรายงานประปรายพบว่ามีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม มีอาการรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิต
ประวัติเกี่ยวกับโรคไวรัสซิกา
พบในลิงในป่าซิกา ประเทศยูกันดา เมื่อปี 2490 หลังจากนั้นมีการพบเชื้อในทวีปแอฟริกา ช่วงปี 2494-2535 พบการระบาดเป็นระยะในเอซีย ตั้งแต่ปี 2550 พบการระบาดในทวีปอเมริกาใต้ ปี 2556-2558 ระบาดสู่อเมริกาเหนือและยุโรป 2559
ไวรัสซิก้า แพร่กระจายได้อย่างไร
เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด
การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด
การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสซิกา สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 4-7 วัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วง 2-5 วันแรก
ลักษณะอาการ
ผื่นแดง ไข้ต่ำ เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย
แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 80% ไม่แสดงอาการ
หากผู้ติดเชื้อมีอาการ ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และจะทุเลาเองภายใน 2-7 วัน
บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท แต่พบน้อย
ความรุนแรงจะเกิดในสตรีตั้งครรภ์
อาจทำให้ทารกมีภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดได้
ภาวะทารกศรีษะเล็ก หมายถึงทารกที่คลอดมาไม่เกิน 1 เดือนวัดรอบศรีษะแล้วมีค่าความยาวเส้นรอบวงต่ำกว่า 3 percentile ของค่าปกติในกลุ่มเพศและอายุครรภ์ของทารกนั้น
บางรายอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท แต่พบน้อย
กลุ่มอาการอักเสบของเส้นประสาท GBS (Guillain-Barre Syndrome) หมายถึงกลุ่มอาการที่เกิดจากการอับเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทหลายๆเส้นพร้อมๆ กัน เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ระบบประสาทของตัวเอง ทำให้เกิดอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และชา หากรุนแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อทางเดินหายใจอาจได้รับผลกระทบ ทำให้หายใจไม่ได้
การวินิจฉัยโรคไวรัสซิกา
ทำได้โดยการตรวจสารพันธุกรรมไวรัสซิกา ด้วยวิธี RT-PCR
- ภายใน 7 วัน นับจากวันเริ่มป่วย เก็บเลือดและตรวจปัสสาวะส่งตรวจ
- ตั้งแต่ 7 วัน ถึง 1 เดือน นับจากวันที่เริ่มป่วย หรือไม่ทราบวันเริ่มป่วย ให้เก็บปัสสาวะส่งตรวจ
สำหรับทารกศรีษะเล็ก และมารดา เก็บเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจด้วยวิธี RT-PCR และส่งตรวจแอนติบอดีต่อไวรัสซิกา ชนิด IgM เพิ่มในตัวอย่างเลือด
การรักษา
ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง ให้รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หากต้องการใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาปวด ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน และยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (กลุ่มเอ็นเซด NSAIDS) เนื่องจากจะเกิดเลือดออกในอวัยวะภายในมากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์
การป้องกัน
อย่าให้ยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เทน้ำขัง ครอบฝาปิดภาชนะ
เลี่ยงการสะสมขยะ
เก็บขยะในที่ปิดมิดชิด
ปิดกั้นท่อระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำขัง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์