แนวทางการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม
(กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในวงกว้าง)
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
7 มกราคม 2564
แนวทางฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อแนะนำสำหรับการจัดสถานที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มี
จำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยไว้ได้เรียกว่า “โรงพยาบาลสนาม”
คำจำกัดความ
“โรงพยาบาลสนาม” หมายถึง สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลซึ่งเกินศักยภาพการจัดระบบบริการ
ในการรองรับผู้ป่วย ทั้งนี้การจัดตั้งจะตั้งนอกสถานพยาบาล ขึ้นกับการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบใน
พื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือ หอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น
การคัดเลือกสถานที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ความต้องการของชุมชน และทรัพยากรด้าน
สาธารณสุขที่มีอยู่ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในสภาวการณ์ที่มีการระบาดได้รับการดูแลรักษาอย่างปลอดภัย ผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงมีการกำหนดคณะทำงานที่ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน
ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย
- รายงานความรุนแรงของโรค COVID-19 และการระบาดในประเทศอื่นๆ หรือจังหวัดอื่นๆ
- อัตราการมารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน หรือโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น
- อัตราการรับเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย PUI เพิ่มสูงขึ้น
- ความสามารถของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย COVID-19
- อัตราส่วนของผู้ป่วยที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ไม่มีคนดูแลที่บ้าน และไม่สามารถดูแลตนเองได้
แนวทางการรับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ในโรงพยาบาลสนาม
ผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย หรือ ดีขึ้นหลังจากการรับรักษาไว้ใน
โรงพยาบาลและมีอาการคงที่ เข้ารับบริการตามระบบการดูแล และเฝ้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลสนาม
การบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
- สถานที่
สถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ได้แก่ อาคารเรียน หอพัก หอประชุมวัด ทั้งนี้ควรมีลักษณะ ดังนี ้
• ควรเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
• ไม่ควรอยู่ในชุมชนแออัด เช่น ตลาดสด
• มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็น อาทิไฟฟ้า ประปา และอื่นๆ
- วัสดุ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงวัสดุสำนักงาน เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม ฯลฯ
- การปฐมนิเทศการปฏิบัติงาน ตลอดจนการกำกับดูแลการทำงานของบุคลากรโดยเฉพาะอาสาสมัคร
- ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิด)
- ระบบการบริหารจัดการหน่วยผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย การจัดเวร โดยประเมินจากความเพียงพอของการให้บริการ
- ระบบการขนส่งต่างๆ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วย อาทิการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุ อุปกรณ์อื่นๆ ขยะติดเชื้อ การจัดการและการเคลื่อนย้ายศพ เป็นต้น รวมถึงจัดการซ้อมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีการทรุดลง
- ระบบการเชื่อมโยงและระบบสื่อสาร อาทิระบบเวชระเบียน การติดต่อสื่อสารทั่วไป ระหว่างโรงพยาบาลสนามกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค หน่วยประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
- ระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ
• ฝึกซ้อมการสวม-ถอด PPE ให้คล่องอย่างถูกต้อง ตามความเสี่ยงของหัตถการ
• สำรวจและสำรอง PPE ให้พร้อมใช้และเพียงพอ รวมถึงสามารถจัดหาเพิ่มได้
• ทีมบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ทุกระดับ ต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของ ระบบการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล
- ระบบสนับสนุน รวมถึงการจัดการด้านสาธารณูปโภคที่พักบุคลากร โภชนาการ เครื่องปั่นไฟ เครื่องกรองน้ำ ประปาสนาม ฯลฯ
- ระบบสุขาภิบาล มีกระบวนการกำจัดเชื้อโรค รวมถึงการจัดสัดส่วนห้องอาบน้ำ/ ห้องสุขาสำหรับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
- ระบบรักษาความปลอดภัย และป้องกันการก่อเหตุร้าย
- ระบบป้องกันอัคคีภัย และการซ้อมแผนจัดการอัคคีภัย
- งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา เนื่องจาก เพื่อลดความกังวล และ ความเครียดของผู้ป่วย รวมถึง ทีมบุคลากรทางการแพทย์
- การจัดระบบการสื่อสารความเสี่ยง ให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบเข้าใจตั้งแต่ก่อนจัดตั้งและ ในระหว่างการระบาด
การจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับ โรงพยาบาลสนาม
- เต็นท์ปฏิบัติงานและที่พัก (กรณีที่ไม่มีอาคาร หรือสถานที่ที่เหมาะสม)
• เต็นท์ปฏิบัติการ
o หากเป็นไปได้ควรติดกล้องวงจรปิดในกรณีที่ต้องติดตามดูอาการผู้ป่วย
o มีพื้นที่สำหรับสวม–ถอดชุดเครื่องป้องกันส่วนบุคคล ก่อนและลงพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วย
o ควรมีคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมในการสื่อสารกับผู้ป่วยในลักษณะ Telemedicine
• เต็นท์ที่พักเจ้าหน้าที่
• เต็นท์หรือพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร
- อุปกรณ์สำนักงาน
• เครื่องคอมพิวเตอร์ notebook พร้อม printer
• โต๊ะ เก้าอี้
• เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เช่น ปากกา กระดาษ กรรไกร แม็กซ์พร้อมลวดเย็บ เป็นต้น
- อุปกรณ์สื่อสาร (ตามความจำเป็นและเหมาะสม)
• วิทยุสื่อสารแบบตั้งเครือข่ายสถานี
• วิทยุสื่อสาร แบบ Mobile , Walky-talky
• ระบบ telemedicine
• ระบบสัญญาณ internet และเครือข่าย
• โทรโข่ง
• ระบบเสียงตามสาย
- เครื่องมือแพทย์
• เครื่องวัดความดันโลหิต (ผู้ป่วย /เจ้าหน้าที่)
• ที่วัดอุณหภูมิ
• เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด (Pulse Oximeter)
• อุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ
• รถพยาบาล กรณีส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน
• รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ (mobile x-ray unit) (ตามความจำเป็นและเหมาะสม)
- อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
• ชุด PPE ตามความเสี่ยง ได้แก่ level C, D (ถุงมือ หน้ากากอนามัย (N95, surgical mask), หมวกคลุมผม, เสื้อกาวน์, face shield, ถุงหุ้มขา (leg cover))
• ชุดเปลี่ยนเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง
• Alcohol ล้างมือ / alcohol gel
- อุปกรณ์ความปลอดภัย
• ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) (ควรมี)
• เทปกั้นพื้นที่
• กุญแจเพื่อปิดกั้นพื้นที่ (ตามความจำเป็นและเหมาะสม)
- อุปกรณ์ดำรงชีพ
• อาหาร-น้ำดื่ม
• อุปกรณ์งานครัว อาทิ จาน ชาม ช้อน
• อุปกรณ์ และของใช้ประจำวันพื้นฐานสำหรับผู้ป่วย (ที่ผู้ป่วยเตรียมไว้ไม่เพียงพอ) อาทิ ผ้าอนามัย ชุดชั้นใน ผงซักฟอก เป็นต้น
• อุปกรณ์สันทนาการ เพื่อบรรเทาความเครียดให้กับผู้ป่วย ได้แก่ อุปกรณ์การกีฬา เป็นต้น
- ยาและเวชภัณฑ์(ปริมาณ ตามความจำเป็นและเหมาะสม)
• ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับไขมันในเลือด ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
• ยารักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
• ยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือด
• Emergency bag
• Antipsychotic drug โดยทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT)
• ยาประจำตัวผู้ป่วยแต่ละราย (กรณีที่รับผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาล)
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลสนาม
ประกอบไปด้วยด้านต่างๆ ดังนี้
- บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ควรเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมการปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนามแล้ว (ประเภทของบุคลากร และจำนวนพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม) ได้แก่ แพทย์ พยาบาลเภสัชกร เวชกรกู้ชีพ นักจิตวิทยา เป็นต้น
- เจ้าหน้าที่ด้านบริหารงานทั่วไป หรือ เจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านต่างๆ
คุณสมบัติของบุคลากรโรงพยาบาลสนาม
• จิตอาสา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตดี
• ควรได้รับวัคซีนภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่ (หากมีวัคซีน)
• บุคลากรที่ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม
o เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรือเป็นโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด
o ตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลสม่ำเสมอ ได้แก่ โรคมะเร็ง เบาหวาน โรคไตวาย หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในรอบปีที่ผ่านมา หรือโรคที่ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
การลงทะเบียนรับผู้ป่วย COVID-19 เพื่อรับการเฝ้าสังเกตอาการในพื้นที่ โรงพยาบาลสนาม
มีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
- ประเมินผู้ป่วยเบื้องต้น จากประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะ การวัดระดับออกซิเจนในเลือดเพื่อให้ทราบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีน้ำหนัก BMI > 35 กก./ม2. เป็นต้น
- ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ทุกรายควรได้รับการประเมินตนอง และจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ทุกวัน (ไม่น้อยกว่าวันละ 1 ครั้ง) เพื่อติดตามอาการจนกว่าจะจำหน่ายผู้ป่วย และได้รับการรักษาเบื้องต้น หากพบอาการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทรุดลง ให้ประสานโรงพยาบาลปลายทางตามแผนการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาต่อไป
- ผู้ป่วยควรได้รับการเอกซเรย์ปอดก่อนเข้าโรงพยาบาลสนาม (หากสามารถดำเนินการได้ในกรณีที่พบความผิดปรกติของภาพรังสีปอด ควรส่งโรงพยาบาลหลักในการดูแลรักษาต่อไป)
ขั้นตอนการดำเนินการโรงพยาบาลสนาม
- หน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งรายชื่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลสนามล่วงหน้า โดยมีการยืนยันตัวตน จำนวนและรายละเอียดของผู้ป่วยที่ชัดเจน เพื่อโรงพยาบาลสนามได้จัดเตรียมเตียงและจัดทำระบบ admit ไว้ล่วงหน้า และกำหนดช่วงเวลาในการรับ-ส่งผู้ป่วยที่แน่นอน ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรมีความรัดกุมและเหมาะสม
- เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามประเมินผู้ป่วย และจัดผู้ป่วยเข้าตามผังเตียงที่กำหนด รายละเอียดการดำเนินการอาจจัดแบ่งโซนให้ชัดเจน เช่น ตามความเสี่ยงของผู้ป่วย หรือ ตามวันที่รับไว้ และแบ่งโซนชาย/หญิงให้ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ
- ระยะระหว่างเตียงผู้ป่วยควรห่างกันไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ทั้งนี้ อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละสถานที่
- จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในส่วนที่พักผู้ป่วย อาทิ ปรอทวัดไข้เครื่องวัดอ๊อกซิเจนในเลือด (pulse oximeter) เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยวัดและรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบผ่านระบบ telemedicine ทุกวัน
- เจ้าหน้าที่จัดส่งอาหาร 3 มื้อ โดยจัดวางไว้ที่พื้นที่ที่กำหนดเพื่อให้ผู้ป่วยมารับไปแจกจ่ายภายในส่วนที่พัก
- เตรียมอุปกรณ์สันทนาการเพื่อบรรเทาความเครียดให้กับผู้ป่วย อาทิ อุปกรณ์กีฬา
- กรณีผู้ป่วยเด็กเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ ควรให้การรักษาที่โรงพยาบาล
- การจัดการภาวะเครียดของผู้ป่วยสามารถดำเนินการได้โดยมีช่องทางให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา หรือทีม MCATT
- กรณีเกิดผู้ป่วยมีอาการผิดปรกติ หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้ติดต่อโรงพยาบาลหลักเพื่อนำส่งผู้ป่วย
- ผู้ป่วยที่ได้รับการดูรักษาในโรงพยาบาลสนามควรได้รับการเอกซเรย์ปอด (หากสามารถดำเนินการได้) ตามระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อติดตามอาการผู้ป่วย
- การจำหน่ายผู้ป่วยเมื่อครบกำหนดการรักษาในโรงพยาบาลสนาม โดยการประสานงานกับโรงพยาบาลหลัก และมีเอกสารรับรองการรักษาให้ผู้ป่วยติดตัว
(ตัวอย่าง)
การบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง
บุคลากร (ผลัดเปลี่ยนทุก 5-7 วัน) ประกอบด้วย
- แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 1 คน
- พยาบาล 4 คน
- ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน
- เสมียน 1 คน
- แม่บ้าน 2 คน
วัสดุการแพทย์ที่สำคัญ
- Medical Grade Coverall Type 5B, 6B EN 14126 2 ชุดต่อวัน
- Isolation gown 10 ชุดต่อวัน
- Surgical gown 20 ชุดต่อวัน
- Goggle 2 ชิ้นต่อวัน
- Shoes cover 20 คู่ต่อวัน
- Medical glove 100 คู่ต่อวัน
- ถุงมือไนไตรต์ 2 คู่ต่อวัน
- Face shield 5 ชิ้นต่อวัน
- Surgical mask 150 ชิ้นต่อวัน
- N95 10 ชิ้นต่อวัน (หากใช้ซ้ำ 3 ชิ้นต่อวัน)
- หมวกคลุมผม 20 ชิ้นต่อวัน