พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. กล่าวว่า วันนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะเสนอมาตรการไปยังที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (eoc) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมโรคเนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์แล้ว ตามข้อกำหนดมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ระบุไว้ว่า การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ เพื่อการป้องกันควบคุมโรค พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าตรวจและดูแลการใช้สถานที่ อาคารและการดำเนินการของเจ้าของ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรค เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งปิดสถานบริการเหล่านั้นเป็นการชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการและกำหนดให้มีการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคและจะสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อทำมาตรการเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม
มาตรการเข้ม 3 ระดับ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.เข้าใจว่า ประชาชนจะต้องทำมาหากิน แต่เราจะต้องบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดการติดเชื้อไปยังบุคคลในครอบครัว บุคคลที่อยู่รอบตัว โดยการนำเสนอเป็น 3 ระดับคือ
- ระดับร้าน หากพบผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง มีการรายงานผู้ติดเชื้อ สถานบริการนั้นจำเป็นต้องปิดทันที เพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างสูงสุดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ระดับโซน หากสถานประกอบการใดมีการพบรายงานผู้ติดเชื้อลักษณะเป็นโซน ที่ไม่ใช่สถานที่เดียว จะปิดพื้นที่เป็นโซน เช่น ทองหล่อทั้งโซน
- ระดับจังหวัด หากเกิดสถานการณ์ควบคุมไม่ได้และมีการกระจายไปทั่วจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อ อาจพิจารณาปิดสถานบันเทิงทั้งจังหวัดได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ศบค. กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบสถานบันเทิงใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและพบผู้ติดเชื้อ จะถูกสั่งปิดทันที ส่วนของกรุงเทพฯ วันนี้จะเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมหารือ ช่วยกันเข้าระวังพื้นที่ กทม. ให้ปลอดภัยอย่างไรด้วย
นอกจากนี้ ศปก.ศบค. ยังมีการหารือ กำหนดความรับผิดชอบให้กับส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันกำกับดูแลมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด -19 เป็นการกำหนดมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทยอยผ่อนคลาย มาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ตั้งแต่ 1 เมษายน -30 มิถุนายน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป จะมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยแต่ละกระทรวง จะต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด เช่น กระทรวงคมนาคม จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ดูแลสถานีขนส่งทุกประเภท กระทรวงศึกษาธิการก็จะต้องมีการกำหนดมาตรการ ป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา ทั้งภาครัฐภาคเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน ก็จะต้องดูแลการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว แรงงานตามฤดูกาล รวมถึงการดูแลที่พักคนงาน จัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงาน การกำกับติดตามโรงงานอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนพื้นที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะต้องมีมาตรการดูแลให้การท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว เป็นสถานที่ปลอดภัย รวมถึงการทำงานร่วมกันแต่ละกระทรวง แต่ละองค์กร ทั้งนี้ภาครัฐอาจทำไม่สำเร็จ หากภาคเอกชนและประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ