ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ไม่ต้องเสียค่ารักษา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กรณีการนำเสนอข่าวที่ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันแล้วว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล หรือโรงพยาบาลเอกชน ไม่ต้องเสียค่ารักษา ทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทำงานเป็นเครือข่ายจัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Co-Ward) ในการบริหารจัดการเตียงร่วมกัน
โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2564 ทั่วประเทศ มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ทั้งหมด 23,483 เตียง ว่างอยู่ 18,257 เตียง สำหรับภาพรวมในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีเตียงรองรับทั้งหมด 4,454 เตียง ว่างอยู่ 2,056 เตียง หากรวมเตียงสนามและ Hospitel ที่ได้รับความร่วมมือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและภาคเอกชนที่ขณะนี้ว่างอยู่อีก 944 เตียง จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งหมด 3,000 เตียง ขอให้ความมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อทุกคนไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ จะต้องได้รับการรักษาฟรี จากทุกโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ที่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลจะคิดค่ารักษาจากประกันก่อน
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำสายด่วนเพื่อรองรับสถานการณ์และจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่
– สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน
– สายด่วน สปสช. 1330 รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
– สายด่วน 1669 ประสานหาเตียงในกทม. รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ops.moph.go.th/public/ หรือโทร. 0-2590-1000
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
AntiFakenews