ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และความน่ากลัวของโรคนี้

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และความน่ากลัวของโรคนี้ Thumb HealthServ.net
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และความน่ากลัวของโรคนี้ ThumbMobile HealthServ.net

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือทั่วไปคือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคร้ายแรง รักษาไม่หายเสียชีวิตทุกราย เกิดจากเชื้อเรบี่ส์ไวรัส (Rabies Virus)

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และความน่ากลัวของโรคนี้ HealthServ

องค์อนามัยโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้ กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก มีการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสุนัขและป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า 


โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดกับสุนัขเท่านั้น!!

ความเข้าใจของคนทั่วไปอาจยึดตามชื่อโรค ซึ่งไม่แปลกอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้เกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด  เช่น  แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว  แม้แต่สัตว์เศรษฐกิจอย่าง วัว ควาย ม้า สุกร พบในตัวที่มีประวัติเคยถูกสุนัขบ้ากัดมาก่อน  หรือสัตว์ป่าในเมืองไทยพบว่า  สุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุด กว่า 95% ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองมาคือ  แมว [กรมควบคุมโรค]


นานาประเด็นเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ควรรู้
 

ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด

ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค - ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน - ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 % ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88 % ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า แผลลึกหลายๆแผล 

 

เชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร? 

เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อยคือถูกกัดโดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนัง ปกติไม่ได้แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก (mucosa) ได้แก่เยื่อบุตาเยื่อบุจมูก ภายในปาก ทวารหนัก และ อวัยวะสืบพันธุ์ แม้ว่าเยื่อเมือก จะไม่มีบาดแผล สำหรับทางติดต่อที่มีในรายงานแต่พบน้อย ได้แก่ ทางการหายใจ,ทางการปลูกถ่าย กระจกตา 
 

ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ

ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกว่าระยะฟักตัว จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี ผู้ป่วยประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน 3 เดือน หลังถูกกัด, ประมาณ 96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่ 4 



 

สุนัขที่เป็นโรคอาการเป็นอย่างไร

สุนัขที่ป่วยจะเริ่มปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตั้งแต่ 3 วันก่อนมีอาการ ไปจนถึง 2 วันหลังมีอาการ หลังจากนั้นจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตลอดเวลาจนกระทั่งตาย - ระยะฟักตัว พบบ่อยในระยะ 3-8 สัปดาห์ แต่พบได้ตั้งแต่ 10 วันจนถึง 6 เดือน - อาการของโรคแบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบดุร้าย เป็นแบบที่พบบ่อย แบบซึม จะแสดงอาการไม่ชัดเจน 

อาการของโรค
แบ่งได้ 3 ระยะ 

1. ระยะอาการนำ สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากเคยเชื่อง ชอบเล่นกลายเป็นซึม กินข้าวกินน้ำ น้อยลง ระยะนี้กินเวลา 2-3 วันก่อนเข้าระยะที่สอง 

2. ระยะตื่นเต้น เป็นอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ระยะพบได้ 1-7 วันก่อนเข้าระยะท้าย 

3. ระยะอัมพาต จะเกิดอาการอัมพาตทั่วตัว ถ้ามีอาการอัมพาตสุนัขจะตายใน 24 ชม. รวมระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ จนถึงตายจะไม่เกิน 10 วัน ส่วนใหญ่ตายใน 4-6 วัน ในแบบซึมอาจมีระยะอัมพาตนานได้ถึง 2-4 วัน และ ในสุนัขที่เป็นโรคที่พิษบ้าจะไม่แสดงอาการกลัวน้ำให้เห็น 

อาการพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร?

แบ่งได้ 2 แบบคล้ายสัตว์ คือ
  • แบบกระสับกระส่าย,ดุร้าย(เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอยู่ ในสมองมาก)แบบนี้พบได้บ่อย 
  • แบบอัมพาต (เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากในไขสันหลัง)

อาการในคน

แบ่งได้ 3 ระยะ

1. ระยะอาการนำ
จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกไปคือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อาการนำที่ชัดเจนที่พบบ่อยในคนไทย คือ อาการคันรอบๆบริเวณที่ถูกกัด หรือคันแขนขาข้างที่ถูกกัด อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบๆบริเวณที่ถูกกัด 

2. ระยะอาการทางระบบประสาท
แบ่งย่อยได้เป็น

- อาการกลัวน้ำจะมีอาการตึงแน่นในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อใน ลำคอกระตุกเกร็ง ภาพที่อธิบายไว้ถึงอาการกลัวน้ำ คือ ผู้ป่วยหิวน้ำ พยายามเอื้อมมือหยิบถ้วยน้ำมาจิบช้าๆ แต่พอถ้วยยาแตะริมฝีปาก ผู้ป่วยเริ่มมือสั่น หายใจสะอึก เห็นกล้ามเนื้อลำคอกระตุกเกร็งแหงนหน้าขึ้น พ่นน้ำพ่นน้ำลายกระจายทั่ว ถ้วยหล่นจากมือพร้อมทั้งเปล่งเสียงร้องแสดงความเจ็บปวดไม่เป็นภาษาคน บางคนที่กล้ามเนื้อควบคุมสายเสียงเป็นอัมพาตจะได้ยินคล้ายเสียงหมาเห่าหอน ผู้ป่วยจะตายใน 2-3 วันหลังจากมีอาการกลัวน้ำ
- อาการกลัวลม ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกลมพัด
- อาการประสาทไว ผู้ป่วยจะกลัว สะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่อยากให้ใครมาถูกต้องตัว
- อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว
- อาการอื่นๆ เช่นมาด้วยอัมพาต

 3. ระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เข้าสู่ระยะโคม่า ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีชีวิตไม่เกิน 7 วัน หลังจากเริ่มอาการนำและอยู่ไม่เกิน 3 วัน หลังมีอาการทางระบบประสาท 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัขข่วน,กัด 

  1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้ 
  2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น 70% alcohol
  3. ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก
  4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ หรือทราบตัวเจ้าของ) ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน
  5. กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย
  6. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่ โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ควรมา รพ.ทันที ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน (เป็นช่วงที่กว้าง) คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้
  7. ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์,สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร อาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคของสัตว์ดังกล่าวลง แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติตามข้อ1-6 เหมือนเดิม
  8. กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน โดย ยังไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเย็บแผล

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด