ก็ไปเจอรายงานของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว 38 ประเทศ เขารายงานไว้ว่าเมื่อปี 2017 ประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่แรงงานใช้เวลาทำงานมากที่สุดมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,255 ชั่วโมงต่อปี (43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รองลงมาคือประเทศคอสตาริกา 2,212 ชั่วโมงต่อปี เกาหลีใต้ 2,069 ชั่วโมงต่อปี และกรีซ 2,035 ชั่วโมงต่อปี
น่าเสียดายว่าประเทศญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันว่าทำงานหนักมากไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ OECD จึงไม่มีรายงานออกมา
หันกลับไปดูประเทศที่ทำงานน้อยที่สุดคือ เยอรมนี ทำงานเพียง 1,363 ชั่วโมงต่อปี (ประมาณ 26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รองลงมาคือ เดนมาร์ก 1,410 ชั่วโมงต่อปี นอรเวย์ 1,421 ชั่วโมงต่อปี และเนเธอร์แลนด์ 1,430 ชั่วโมงต่อปี แสดงว่าแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วแถบภาคพื้นยุโรปเขาทำงานกันไม่มากแต่กลับมีรายได้มากมาย แสดงถึงประสิทธิภาพการทำงานและมูลค่าต่อหน่วยการทำงานที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างมาก
มาดูรายเมืองกันบ้าง รายงานของ United Bank of Switzerland สำรวจไว้จำนวน 71 เมืองเมื่อปี 2015 พบว่าเมืองที่แรงงานใช้เวลาทำงานมากที่สุดได้แก่
- ฮ่องกง 50.11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- รองลงมาคือ มุมไม (43.78)
- เม็กซิโกซิตี้ (43.48)
- นิวเดลลี (42.57)
- และกรุงเทพมหานครอยู่ในอันดัน 5 ของเมืองที่แรงงานใช้เวลาทำงานมากที่สุดในโลกที่ 42.13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่าโตเกียว (39.50) และปักกิ่ง (37.42) เสียอีก
ส่วนเมืองที่แรงงานใช้เวลาทำงานน้อยที่สุดในโลกคือ ปารีส 30.84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อันดับสองคือ ลียง, ฝรั่งเศส (31.36) และมอสโก (31.67)
โดยปกติแล้ว คนไทยทำงานตามกฎหมายที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 5 หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ คิดง่าย ๆ ก็ประมาณสัปดาห์ละ 40-48 ชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพการทำงานของเราเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วยังด้อยกว่ามาก สะท้อนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่ยังอยู่ในระดับรายได้ปานกลางเท่านั้น อีกทั้งมูลค่าของผลิตภาพที่ได้จากการทำงานยังต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นงานบริการและการผลิตขั้นต้นและขั้นกลางที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก จึงมีส่วนต่างมูลค่าเพิ่มน้อยตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมและทัศนคติในการทำงานก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีชั่วโมงการทำงานมากแต่ได้ผลิตภาพต่ำ คำว่า “ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม” พบเห็นได้ทั่วไปในสถานที่ทำงานต่าง ๆ
ใครไม่เชื่อลองไปติดต่อหน่วยงานรัฐไทยดูสิครับ ลองไปตั้งแต่เวลาเปิดทำการ แล้วจะพบว่าข้าราชการและพนักงานของรัฐส่วนหนึ่งมาสาย ที่มาทันเวลาก็สักแต่ว่ามาเซ็นชื่อรูดนิ้วให้ทันเวลาตามระเบียบเท่านั้น แต่ยังไม่พร้อมงาน นั่งแต่งหน้าออกไปกินข้าว และทำธุระส่วนตัวกันก่อน กว่าจะได้บริการประชาชนก็สายไปไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง แล้วอย่าลืมย้อนกลับไปดูอีกทีตอนใกล้เลิกงานด้วยนะ ก็จะพบว่าบางส่วนหนีกลับไปก่อนเวลาเลิกแต่ฝากเพื่อนลงเวลาออกตามเวลาราชการ ที่ยังอยู่ก็เตรียมตัวกลับบ้าน ไม่พร้อมที่จะบริการประชาชนกันแล้ว
สรุปง่าย ๆ ว่าประเทศไทยทำงานเยอะแต่ในกระดาษบันทึกเวลาการทำงาน แต่เวลาการทำงานจริงน่าจะน้อยที่สุดในโลกนะครับ