คุณรู้สึกว่าคุณเหนื่อยเกินไป
พอสิ้นสุดวันอันแสนเหนื่อย หลังการทำงานอันเคร่งเครียดแล้ว ไหนจะภาระดูแลครอบครัวเมื่อกลับถึงบ้านอีก แม่บ้านทุกคนจึงแทบอยากรีบเอนหลังไว ๆ แล้วหลับพักยาวตลอดคืน
ถ้าเพียงได้พักแล้วหายเหนื่อย หายเพลีย ก็คงดีนะ แต่นี่แม้จะนอนมากเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ยังคงเพลียไม่หาย แบบนี้อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเผชิญกับ “ภาวะเพลียเรื้อรัง” เข้าแล้ว
Chronic Fatigue Syndrome หรือ CFS ไม่ใช่อาการเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไปอย่างไข้หวัดหรือกล้ามเนื้ออักเสบ เพราะหากเป็นการเจ็บป่วยตามธรรมดา อาการป่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะอธิบายได้และค้นหาสาเหตุได้ แต่อาการป่วยจาก CFS หาสาเหตุไม่พบและอธิบายไม่ได้ เป็นทีพร้อม ๆ กันหลายอาการ จนเกือบจะไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรียกรวม ๆ กันว่า Syndrome
มิหนำซ้ำยังเป็นอาการที่ค่อนข้างวินิจฉัยยากเพราะคล้ายกับหลายโรค โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ และบางทีก็เกิดจากสร่างไข้ใหม่ ๆ เลยทำให้ตัวคุณเองอาจไม่แน่ใจว่าเพราะยังไม่ฟื้นไข้ดีหรือเปล่า
ข้อมูลจาก Mayo Clinic เผยว่า พบภาวะเหนื่อยเรื้อรังนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-4 เท่า แต่ตัวเลขนี้เอาแน่ยังไม่ได้ อาจเป็นไปได้ว่าเพราะผู้หญิงใส่ใจสุขภาพมากกว่า พอรู้สึกไม่สบายก็มักไปหาหมอมากกว่าผู้ชายเลยมีสถิติมากกว่าก็เป็นได้
ยังไม่มีใครทราบว่าภาวะเหนื่อยเรื้อรังเกิดจากอะไรกันแน่ ชื่อนี้ได้มาจากอาการที่แสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอ่อนเพลียมาก ๆ แม้จะพักผ่อนมากเท่าไรแล้วก็ตาม ทั้งเหนื่อยล้าเกินกว่าอยากจะหยิบจับทำอะไร ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก
สัญญาณบ่งบอกถึงภาวะเหนื่อยเรื้อรัง
บ่อยครั้งที่ภาวะเหนื่อยเรื้อรังเกิดหลังจากป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นว่าเป็นไข้หวัดหรือท้องเสีย บางครั้งก็เกิดในช่วงที่เครียดจัด แต่ก็มีเหมือนกันที่อยู่ดี ๆ ก็เป็นขึ้นมาโดยไม่มีอาการเตือนหรือไม่สบายมาก่อน
ปกติแล้วจะเกิดแบบต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน อาการจะคลุมเครือชี้ชัดได้ยากกว่าเป็นอะไรกันแน่ และแพทย์น้อยคนนักที่จะนึกถึง ซึ่งถ้าแพทย์ให้การรักษาตามอาการแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีหลายอาการประกอบกัน ก็เข้าข่ายว่าน่าจะเป็นภาวะเหนื่อยเรื้อรัง
แล้วจะรักษาอย่างไรดี
เพราะไม่มียาเฉพาะที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาตามอาการและการดูแลสุขภาพกายและใจจึงเป็นหนทางเดียวในขณะนี้ที่จะช่วยบรรเทาได้ พร้อม ๆ ไปกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่นว่าทานอาหารให้สมดุล พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด ที่สำคัญพอรู้ตัวว่าเป็นหรือเพียงแค่สงสัยก็ควรรีบกำจัดสิ่งที่จะไปกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้นนั้นซะ
เพราะการเรียนรู้และรู้ทันเพื่อจัดการกับภาวะเหนื่อยเรื้อรังนี้ คือ
ที่พึ่งและหนทางเดียวที่จะช่วยให้คุณดีขึ้นได้
จาก นิตยสาร ezyhealth ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2548