การให้ฮอร์โมนทดแทนในชายวัยทอง
โดย พ.อ. ผศ. นพ.ธนบูรณ์ จุลยามิตรพร
ชายวัยทองหรือ ชายสูงอายุที่อยู่ในภาวะพร่องฮอร์โมน เป็นภาวะตามธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ชายวัยทอง แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศนั้นมีมากกว่าฮอร์โมนชนิดอื่นๆ
อาการของผู้ชายวัยทอง ได้แก่
•มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ร่วมกับการลดลงของสติปัญญา ความจำ มีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์ซึมเศร้า และหงุดหงิดง่าย
•ปัญหาการนอนหลับ
•การลดลงของมวลกล้ามเนื้อ รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
•ไขมันที่อวัยวะภายในเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ไขมันในเลือดสูงและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
•มีขนตามตัวลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง
•มวลกระดูกลดลง เป็นผลให้เกิดกระดูกบาง กระดูกพรุน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูกหัก
•ปริมาณของเม็ดเลือดแดงลดลง
•ความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง
การวินิจฉัย
เนื่องจากมีความแตกต่างของการขาดฮอร์โมนเพศในชายและหญิงวัยทอง คือ ในผู้ชายวัยทองฮอร์โมนเพศจะค่อยๆ ลดลง และไม่ได้ขึ้นกับอายุ อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันผู้ชายแต่ละคน บางคนอาจจะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุ 40 ปี แต่ผู้ชายที่มีอายุ 80 ปีบางคนก็ยังมีฮอร์โมนเพศและสุขภาพยังดีอยู่ก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้
1.อาศัยอาการ ด้วยการประเมินอาการ 3 ด้าน คือ ด้านร่างกายและระบบไหลเวียน ด้านจิตใจ และด้านเพศ โดยอาศัยแบบสอบถาม ซึ่งช่วยในการคัดกรอง และใช้ในการติดตามผล
2.จากการตรวจเลือด เพื่อหา ฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนชนิดรวม และ sex hormone binding globulin ในช่วงเวลา 7.00-11.00 น. นำผลเลือดทั้งสองมาคำนวณให้ได้ค่าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนอิสระซึ่งมีความแม่นยำกว่าการตรวจ เทสทอสเตอโรนรวม แล้วนำผลมาพิจารณาดังนี้
•ถ้าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนรวมมีค่ามากกว่า 12 นาโนโมลต่อลิตร หรือ 346 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าปกติ ไม่ต้องให้ฮอร์โมนทดแทน ต้องหาสาเหตุอื่น
•ถ้าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนรวมมีค่าน้อยกว่า 8 นาโนโมลต่อลิตร หรือ 231 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าพร่องฮอร์โมน ต้องให้ฮอร์โมนทดแทน
•ถ้าฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนรวมมีค่าระหว่าง 12-8 นาโนโมลต่อลิตร จะต้องใช้ค่าฮอร์โมนอิสระมาพิจารณา ถ้ามีค่าน้อยกว่า 180 พิโกโมลต่อลิตร (หรือ 52 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร) ถือว่าพร่องฮอร์โมน ต้องให้ฮอร์โมนทดแทน แต่ถ้ามากกว่า 250 พิโกโมลต่อลิตร (หรือ 72 พิโกกรัมต่อมิลลิลิตร) ถือว่าปกติ
การใช้ฮอร็โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวันทองนั้นเพิ่งมีการนำมาใช้ไม่นานมานี้เอง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่พอจะป้องกันได้ และประวิงเวลาของโรคที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อดีของการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน
การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในผู้ชายวัยทองให้เข้าสู่ระดับปกติ โดยไม่สูงเกินไป จะมีประโยชน์เพื่อลดปัญหาที่เกิดในชายวัยทองดังได้กล่าวมาข้างต้น
ข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน
1.เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือว่าสงสัยจะเป็น
2.เป็นมะเร็งเต้านม หรือสงสัยว่าจะเป็น
3.ต่อมลูกหมากโตทีมีอาการอุดตันการปัสสาวะที่รุนแรง
4.มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป
5.มีการหยุดหายใจขณะหลับ
6.หัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง
7.ต่อมลูกหมากโตอย่างรุนแรง จนมีอาการของการอุดตันทางเดินปัสสาวะ
8.แพ้ฮอร์โมนเพศชาย
รูปแบบของฮอร์โมนเพศชายทดแทน
ฮอร์โมนเพศชายมีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ ชนิดรับประทาน ชนิดฉีด ชนิดทาผิวหนัง ชนิดแปะที่อัณฑะ ชนิดแปะผิวหนัง และฝั่งใต้ผิวหนัง แพทย์จะเลือกให้ฮอร์โมนเพศทดแทนที่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติใกล้เคียงธรรมชาติ อย่างไรก็ตามในขณะนี้ประเทศไทยมีฮอร์โมนเพศชายทดแทนเพียง 2 รูปแบบ คือ ชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเท่านั้น ในระยะหลังมียาฉีดที่มีฤทธิ์นานประมาณ 3 เดือนซึ่งทำให้สะดวกมากขึ้น
การติดตามชายวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน
การตรวจก่อนเริ่มต้นให้ฮอร์โมนและการตรวจซ้ำเมื่อครบทุกปี นอกจากการตรวจฮอร์โมนเพศเพื่อการวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมน แล้วควรตรวจ
1.การตรวจเพื่อคัดกรองหาโรคในผู้สูงอายุทั่วไป เช่น ดัชนีมวลกาย สัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก ความดันโลหิตสูง ความเข้มข้นของเลือด เบาหวาน ไขมันในเลือด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ ถ้าหากไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายก็อาจจะตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มเติม
2.ประเมินพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัฒนะธรรมของชุมชน
การตรวจติดตามเป็นระยะ
1.โรคที่ตรวจพบและให้การรักษา เช่น ไขมันเลือดผิดปกติ เป็นต้น
2.ผู้ที่ตัดสินใจใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรได้รับการตรวจ ความเข้มข้นของเลือด และพีเอสเอ (เพื่อคัดกรองหามะเร็งของต่อมลูกหมาก) ทุก 3 เดือน
สรุป
เนื่องจากการให้ฮอร์โมนเพศทดแทนยังเป็นเรื่องใหม่ รวมทั้งมีทั้งข้อดีและเสียเช่นเดียวกับ การรักษาทุกชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การดูแลภายใต้การดูแลของแพทย์ อีกทั้งในขณะนี้ยังคงมีการวิจัยเกี่ยงกับผู้ชายวัยทองอยู่อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน แนวทางการดูแลที่ต่างไปจากที่กล่าว ณ ที่นี้ก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
Lunenfeld B, Saad F, Hoesl CE. ISA, ISSAM and EAU recommendations for the investigation, treatment and monitoring of late-onset hypogonadism in males: scientific background and rationale. Aging male 2005;8:59-74.
Nieschlag E, Swerdloff R, Behre HM, Gooren LJ, Kaufman JM, Legros JJ et al. Investigation, treatment and monitoring of late-onset hypogonadism in males. Aging male. 2005; 8:56-8.
หากคุณเป็นชายที่เข้าสู่วัยทอง (อายุ 50 ปีขึ้นไป)
หรือเป็นชายอายุ 40- 50 ปี แต่ มีอาการแบบนี้ …
1. ขาดสมาธิในการทำงาน ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
2. เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
3. ความแข็งแรงและความมีพละกำลังลดลง ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
4. เตี้ยลง หลังค่อม ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
5. ขาดความสดชื่นในชีวิต ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
6. ซึมเศร้า เหงาหงอย ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
7. อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
8. ความต้องการทางเพศลดลง ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
9. นอนหลับแบบหมดเรี่ยวแรง ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
10. ความสามารถในการเล่นกีฬาลดลง ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่
ถ้าคุณตอบว่าใช่ในข้อ 7 และ ข้อ 8 เพียงข้อเดียว
หรือใช่ในข้ออื่น ๆ รวม 3 ข้อ
แสดงว่าคุณอาจ…..มีฮอร์โมนเพศชายไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ท่านสามารถทำแบบสอบถามนี้ แล้ว email มาที่info@vibhavadi.comเพื่อขอรับการตรวจเลือด และนัดพบแพทย์ต่อไป กรณีตรวจเลือดกรุณา งดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมงและนัดหมายได้ที่แผนกตรวจสุขภาพ โทร.0-2910-2800 กด 1 ทุกวัน 08.00 - 16.00 น.