ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน

สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน Thumb HealthServ.net
สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน ThumbMobile HealthServ.net

โรคระบบทางเดินอาหาร มักระบาดหนักในช่วงหน้าร้อน ยิ่งปีนี้อากาศร้อนรุนแรงมาก จนทำให้หลายคนเกิดภาวะ Heat Stroke (โรคลมแดด) ซึ่งเห็นได้ชัดและฉับพลันกว่า จึงอาจทำให้เราหลงลืมโรคกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการบริโภคน้ำและอาหารที่ไม่สะอาดในช่วงหน้าร้อนนี้

 ในฤดูที่ดวงอาทิตย์ใกล้ชิดกับประเทศไทยมากเป็นพิเศษแบบนี้ ทำให้เราได้ยินข่าวผู้ป่วย Heat Stroke กันไม่เว้นแต่ละวัน แต่โรคลมแดดยังไม่ใช่อันตรายเพียงอย่างเดียวของหน้าร้อนเมืองไทย แต่ยังมีโรคระบบทางเดินอาหารที่อันตรายไม่แพ้กันที่เราทุกคนต้องระวังกันด้วย
 
จริง ๆ แล้วคนไทยส่วนใหญ่ทราบกันดีว่าโรคระบบทางเดินอาหาร มักระบาดหนักในช่วงหน้าร้อน เพราะอากาศร้อนจะเอื้อให้จุลินทรีย์และเชื้อโรคต่าง ๆ ในอาหารเติบโตได้ดี แต่เนื่องจากหน้าร้อนปีนี้ อากาศร้อนมีความรุนแรงมาก จนทำให้หลายคนเกิดภาวะ Heat Stroke (โรคลมแดด) ซึ่งเห็นได้ชัดและฉับพลันกว่า จึงอาจทำให้เราหลงลืมโรคกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการบริโภคน้ำและอาหารที่ไม่สะอาดในช่วงหน้าร้อนนี้
 
 
สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน HealthServ
 
 

เตือนสายเนื้อ - สายแซ่บต้องระวัง

 
“โรคระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ โรคท้องเสียหรือลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ รวมถึงโรคไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) หรือโรคอหิวาตกโรค ซึ่งล้วนเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารที่เก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม หรือแม้แต่อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ก็อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารหรือโรคในระบบอื่น ๆ ได้” นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท อายุรแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต กล่าว
 
 
 
กล่าวง่าย ๆ คือ กลุ่มอาหารที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ อาหารสดหรืออาหารทะเล เช่น ซูชิ หอย กุ้ง ปลาดิบ อาหารที่ไม่ได้ใช้ความร้อนปรุงสุกอย่างทั่วถึง เช่น ยำ ลาบ ก้อย หรือส้มตำ ตลอดจนเมนูสเต็กบางอย่างที่ไม่สุกดี หรือของหวานที่มีส่วนประกอบที่บูดเสียง่ายหากดูแลไม่ดีอย่างกะทิ เช่น เมนูน้ำแข็งใส รวมไปถึงอาหารหมักดองที่มักจะต้องเก็บไว้เป็นเวลานาน และโดยเฉพาะสิ่งที่เรามักมองข้ามในช่วงหน้าร้อน ก็คือการดื่มน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาดนั่นเอง
 
 
 
 
สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน HealthServ
 

ท้องเสียหนักอย่างวางใจ อาจช็อกได้

 
อาการทั่วไปของความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารมีตั้งแต่อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้องบิด ท้องเสียถ่ายเหลว ขับถ่ายปริมาณมากหรือหลายครั้ง (มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน) ถ่ายเป็นมูกเลือด หากสังเกตลักษณะอุจจาระ อาจช่วยบอกโรคที่น่าจะเป็นได้เช่น อุจจาระมีกลิ่นเหมือนหัวกุ้งเน่าอาจเป็นโรคไทฟอยด์ หรือถ่ายเหลวปริมาณมากและถี่ มีสีเหมือนน้ำซาวข้าว อาจเป็นโรคอหิวาตกโรค
 
 
 
เบื้องต้นควรชดเชยการขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ และแพทย์ไม่แนะนำให้รับประทานยาหยุดถ่ายโดยไม่จำเป็น โดยทั่วไปอาการถ่ายเหลวมักดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้ามีอาการนานกว่านั้น ร่างกายอาจภาวะเกลือแร่ผิดปกติจากการขาดน้ำปริมาณมากและทำให้เกิดภาวะความดันตกหรือภาวะช็อกได้ รวมถึงในระหว่างนั้น หากมีอาการหน้ามืด ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วเหมือนจะเป็นลม ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
 
 
 

ปฏิบัติตัวอย่างไรให้ผ่านหน้าร้อนไปได้แบบเฮลตี้

 
นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท กล่าวเสริมว่า “เมื่อเราทราบถึงสาเหตุของโรคระบบทางเดินอาหารแล้ว วิธีปฏิบัติตัวง่าย ๆ ที่เราควรทำให้เป็นสุขนิสัยในทุกฤดูกาลก็คือ การล้างมือให้สะอาดโดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร การดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด รวมไปถึงการบริโภคน้ำแข็งเฉพาะจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกทั่วถึง และไม่เก็บไว้นาน หลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารสดหรือดิบ โดยเฉพาะเมนูยำ ลาบ หรือส้มตำ ควรเลี่ยงไว้ก่อนในช่วงหน้าร้อนนี้”
 
 
 

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรคลมแดดและโรคเพลียแดด

 
Heat Stroke (โรคลมแดด) และ Heat Exhaustion (โรคเพลียแดด) มีความแตกต่างกันโดยแบ่งตามระดับความรู้สึกตัวและอาการไข้สูง โดย Heat Stroke ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว เช่น สับสน ชัก หรือหมดสติ ร่วมกับอาการไข้สูง 104F° หรือ 40C° ในขณะที่ Heat Exhaustion อาจมีอาการเวียนหัวหรือหน้ามืด แต่ยังไม่ถึงขั้นหมดสติ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ภาวะนี้มีอาการร่วมหรืออาการนำที่คล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว กระหายน้ำมาก ปวดเมื่อยหรือมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ในกรณีที่มีอาการหนักมากอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) ซึ่งเมื่อเจาะเลือดตรวจจะพบเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อและตับสูงผิดปกติ โดยในทางการแพทย์นั้นทั้งภาวะ Heat Stroke และ Rhabdomyolysis ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในทันที
สายแซ่บต้องระวัง! แพทย์เตือนกลุ่มอาหารเสี่ยงโรคหน้าร้อน HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด