ครรภ์เป็นพิษ คือโรคความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ ที่ส่งผลกระทบถึงระบบอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย จนอาจทำให้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ สตรีที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์แรกที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปี หรือตั้งครรภ์ครั้งต่อมาห่างกันมากกว่า 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ซึ่งตรวจพบได้จากภาวะความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่มีส่วนทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง
อาการนำของครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ มือและเท้าบวมมากในขณะตั้งครรภ์ เมื่อตรวจเพิ่มเติมจะพบว่ามีความดันโลหิตสูง คือสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะมาก สายตาพร่ามัว จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จนถึงขั้นชักและหมดสติ หากมีเลือดออกในสมองอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงการทำงานของหลายระบบอวัยวะอาจล้มเหลวจากโรคครรภ์เป็นพิษ เช่น มีไตวาย ตับวาย เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งทารกในครรภ์จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยจะอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ทารกตัวเล็ก รกลอกตัวก่อนกำหนด จนอาจเสียชีวิตในครรภ์เช่นกัน
เมื่อสตรีตั้งครรภ์ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์อาจนัดตรวจติดตามถี่ขึ้น หรือพิจารณารับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ดังกล่าวนอนพักผ่อนให้มาก โดยเฉพาะให้นอนในท่าตะแคงซ้าย และอาจให้ยาช่วยควบคุมความดันโลหิตด้วย ถ้าอาการรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องให้คลอดแม้อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด
และสำหรับสตรีที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษ หากจะตั้งครรภ์อีก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อมา และโดยทั่วไปโรคจะรุนแรงขึ้น และจะเกิดในอายุครรภ์ที่อ่อนเดือนลง ต้องปรึกษาและอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ฉะนั้นสตรีตั้งครรภ์ต้องป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ งดอาหารเค็ม อาหารมัน รับประทานโปรตีนเพิ่มขึ้น ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ยกเท้าสูงเวลานั่งหรือนอน ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้ครับ
ลดภาวะเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ
รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล