โรคเกาต์เทียมคืออะไร ?
โรคเกาต์เทียมเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate) สามารถก่อให้เกิดการอักเสบเลียนแบบโรคเกาต์ได้ จึงเรียกว่าโรคเกาต์เทียม
โรคเกาต์เทียมพบได้ในผู้ใดบ้าง ?
โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย นอกจากนี้สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซั่มบางอย่าง เช่น ฮีโมโครมาโตซิส พาราธัยรอยด์ฮอร์โมนสูง แมกนีเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น
โรคนี้มีอาการและอาการแสดงอย่างไรบ้าง ?
ผู้ป่วยโรคนี้อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการและอาการแสดงต่างๆ กันออกไป เช่น
1. บางรายมาด้วยอาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบเป็นๆ หายๆ เลียนแบบโรคเกาต์
2. บางรายอาจมาด้วยอาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจพบร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้
3. บางรายอาจมาด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหลายข้อเลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้
4. บางรายอาจมาด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรังและมีการทำลายข้อได้
5. บางรายอาจไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบได้ทางภาพรังสี
การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม
การวินิจฉัยโรคนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจน้ำไขข้อซึ่งจะพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต ซึ่งแยกได้จากผลึกยูเรตในโรคเกาต์ ส่วนการตรวจทางภาพรังสีมักจะพบลักษณะหินปูนจับที่แนวกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้
การรักษาโรคเกาต์เทียม
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถไปละลายหินปูนออกจากกระดูกอ่อนได้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อ การป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคร่วมที่อาจพบร่วมกับโรคเกาต์เทียม พร้อมให้การรักษาควบคู่กันไป
การรักษาทางยา
ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซิน เหมือนกับการรักษาในโรคเกาต์
ในรายที่มีน้ำไขข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะสามารถช่วยลดการอักเสบของข้อได้
ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะกระทำบ่อยๆ
การทำกายภาพบำบัด
เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ควรทำกายภาพในช่วงที่ข้ออักเสบทุเลาลงแล้ว